เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 13 มีนาคม 2562 ที่ห้องประชุม 2 ชั้น 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เชิญประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามแก้ไขปัญหาหมอกควันปกคลุมเมืองอุดรธานี นายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี , นายแพทย์ชาตรี เมธาธราธิป ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี ผู้แทนจาก กอ.รมน.อุดรธานี , สาธารณสุข , ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม(ทสจ.) , สิ่งแวดล้อมภาค 9 , อุตสาหกรรม , ป้องกันจังหวัด และทีมผู้ปฏิบัติการ
หลังจากเกิดมีหมอกควัน ปกคลุมตัวเมืองอุดรธานี และเว็ปไซด์ www.airvisual.com รายงานคุณภาพอากาศของอุดรธานี มีปัญหาไม่เคยมีคุณภาพดี หรือสีเขียว และอยู่ในคุณภาพอากาศปานกลาง หรือสีเหลือง และคุณภาพอากาศไม่แข็งแรงต่อกลุ่มที่ละเอียดอ่อน มีบางครั้งมีคุณภาพอากาศไม่แข็งแรง หรือสีแดง จนกระทั่งตั้งแต่เวลา 20.00 น. วันที่ 11 มีนาคม – 12.00 น. วันที่ 13 มีนาคม มีคุณภาพอากาศไม่แข็งแรง หรือสีแดง โดยมีค่า PM 2.5 สูงสุดที่ 131 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร หรือเกินกว่ามาตรฐานเกือบ 3 เท่า (เวลา 07.00 น. วันที่ 14 มีนาคม ค่า PM 2.5 วัดได้ 216 ไม่โครกรัมต่อ ลบม.)
นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า อุดรธานีได้กำหนดแนวทางป้องกัน และแก้ปัญหาหมกควัน หรือปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ไว้และได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ปรากฏว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา สังเกตเห็นอากาศคล้ายมีกลุ่มควัน ปกคลุมพื้นที่ตัวเมืองอุดรธานี ขณะที่ในสื่อสังคมออนไลน์ ได้นำเสนอตัวของคุณภาพอากาศ จากหลายแหล่งที่มา รวมทั้งเครื่องตรวจวัดแบบส่วนบุคคล ที่ยังไม่มีการรับรองมาตรฐาน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ เกรงว่าจะเกิดการตื่นกระหนก
“ ในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรม 400 โรง มีโรงงานที่ต้องเฝ้าระวัง 40 โรง ทั้งหมดได้ตรวจสอบแล้ว ขณะการตรวจสอบโรงปูนผสม มีคำสั่งให้ปรับปรุงไป 1 โรง , เรื่องควันไอเสียจากรถยนต์ สนง.ขนส่งอุดรธานี ได้ออกตรวจตรารถโดยสาร และรถบรรทุก สั่งให้รถมีปัญหาปรับปรุงแก้ไขแล้ว , พื้นที่ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ก็ลงสำรวจกำชับให้ผู้รับจ้าง และเจ้าของโครงการลดปัญหาฝุ่นด้วย และการออกประกาศห้ามเผา วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร และการเผาไร่อ้อย ซึ่งยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ”
ตัวแทนจาก สนง.สิ่งแวดล้อมภาค 9 และ ทสจ.อุดรธานี กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษมีสถานีตรวจคุณภาพอากาศที่ จ.ขอนแก่น และ จ.เลย ที่รายงานอยู่ในแอพฯ Air4Thai ทำให้ จ.อุดรธานี จะต้องใช้การเทียบเคียง พบว่าเริ่มมีปัญหาตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม และจากดาวเทียมของ “จีดด้า” รายงานจุดความร้อนมากขึ้น ทั้งใน จ.ขอนแก่น จ.เลย และ จ.อุดรธานี สำหรับอุดรธานีเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรมถึง 49 จุด
ตัวแทน 2 หน่วยงาน ชี้แจงต่อว่า หมอกควันที่เกิดขึ้นใน จ.ขอนแก่น จ.เลย และ จ.อุดรธานี เกิดขึ้นจากการเผาพื้นที่เกษตร ส่วนใหญ่น่าจะเป็นไร่อ้อย ต่างจากหมอกควันที่เกิดในกรุงเทพฯ ที่เกิดจากไอเสียของรถยนต์ ดาวเทียมจีสด้ารายงานว่า กระแสลมได้พัดกลุ่มควันจาก จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิ มาปกคลุมอุดรธานีตั้งแต่เมื่อวาน โดยสภาพหมอกควันในพื้นที่ 3 จว.จะลดลงเมื่อเกิดมีพายุ และจะมีแนวโน้มลดลงเมษายนเป็นต้นไป
นายแพทย์ชาตรี เมธาธราธิป ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี กล่าวว่า เมื่ออุดรธานีไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จากการหารือไปยังส่วนกลาง ได้ให้คำแนะนำให้ใช้ข้อมูลของ www.airvisual.com เพื่อประกอบการให้คำแนะนำ การดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งขณะนี้ก็แจ้งให้งดการทำกินกรรมกลางแจ้ง สำหรับประชาชนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ
นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวสรุป ปัญหาการเผาไร่อ้อยต้องใช้เวลา เพราะไปเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และต้นทุนเก็บเกี่ยวสูงขึ้นหากไม่เผา แม้โรงงานจะหักเงินจากอ้อยเผา ก็ยังไม่จูงใจให้ชาวไร่อ้อยหยุดเผา ซึ่งขณะนี้อ้อยส่งเข้าโรงงานเผาถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเร่งส่งอ้อยให้ทันก่อนปิดหีบ ซึ่งข้อตกลงล่าสุดก่อนสงกรานต์ จึงเตรียมจะคุยกับโรงงวานอีกครั้ง ว่าจะขยายเวลาปิดหีบออกไปหรือไม่ เพื่อให้ชาวไร่ไม่ต้องเร่งตัดอ้อย
“ จังหวัดจะตรวจสอบโรงงาน 40 โรงอีกครั้ง ว่ามีปล่อยฝุ่นละอองอีกหรือไม่ พร้อมเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ขณะปัญหาไฟไหม้พื้นที่เกษตร พื้นที่สาธารณะ และป่า ให้องค์กรปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานหลัก เข้าทำการดับโดยทันที ควบคู่ไปกับการรณรงค์ลดการเผาไร่อ้อย และการทำความสะอาด ฉีดพ่นละอองน้ำ สำหรับข่าวสารในทุกภาคส่วน ให้ สนง.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี จัดทำจดหมายข่าวสื่อสารกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน อปท. กำนัน-ผญบ. และสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ”