อุตุเตือนอุดรฝนมากตั้งแต่ 14 ก.ค.-สิ้นเดือน ชลประทานศึกษา 14 พื้นที่เสี่ยง นครอุดรและรอบ ๆ บางจุดพบฝนแค่ 25-30 มม.ก็มีปัญหาแล้ว รอง ผวจ.สั่งบูรณาการคาดกาลฝนล่วงหน้ารายวันกับการศึกษาของชลประทาน เร่งเปิดขยายทางน้ำให้ไหลเร็วขึ้น
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวารนุวัตต์ ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะทํางานติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำ (อุทกภัย) ปี 2566 ประจำสัปดาห์ที่เลื่อนจากวันอังคาร โดยมีป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี นำคณะทำงานหน่วยงานเกี่ยวข้อง องค์กรปกครองท้องถิ่น ประชุมทางไกลร่วมกับ 20 อำเภอ
สถานีตรวจอากาศอุดรธานี รายงานว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณฝนตกน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ด้านทิศตะวันออก ทำให้ค่าเฉลี่ยฝนที่ตกลงมา ต่ำกว่าปริมาณน้ำฝนที่ตก เฉลี่ยฝนที่ตกลงมาในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ร่องความกดอากาศ เคลื่อนลงมาอยู่เหนือประเทศไทย และจะเคลื่อนลงมา ผ่าน จ.อุดรธานี ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ปริมาณฝนจะเพิ่มมากขึ้น และต่อเนื่องไปจนปลายเดือนนี้
พร้อมกับรายงานพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า วันที่ 10-16 กรกฎาคม 2566 ทั้งในภาพรวม 7 วัน จะมีฝนหนักด้านทิศตะวันออก รวมมากกว่า 80 มม. สูงสุด อ.พิบูลย์รักษ์-ทุ่งฝน 108 มม. รองลงมาคือ อ.โนนสะอาด , ประจักษ์ฯ , กุมภวาปี , เพ็ญ , วังสามหมอ , บ้านดุง , กู่แก้ว , หนองแสง , เมือง , หนองหาน , ศรีธาตุ , ไชยวาน 80.8 มม. นอกจากนี้ยังพยากรณ์อากาศรายวัน และรายอำเภอ เพื่อประกอบการเตรียมรับมือ ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำรอระบายและน้ำท่วม
ขณะที่ชลประทาน จ.อุดรธานี รายงานว่า ฝนที่ตกลงมามีน้ำไหลลงอ่างฯ มีหลายอ่างฯน้ำเกินกว่าระดับความปลอดภัย ต้องระบายน้ำออกเพื่อรอน้ำใหม่ ประกอบด้วย อ่างฯลำพันชาติ ระบายน้ำวันละ 9 แสน ลบม. , อ่างฯลำพันชาดน้อย วันละ 6.3 หมื่น ลบม. , อ่างฯห้วยตะคองใหญ่ วันละ 2.4 หมื่น ลบม. และอ่างฯห้วยทราย วันละ 3.0 หมื่น ลบม. ขณะยังมีอ่างฯที่ระบายน้ำออกเพื่อให้เกษตรกร ประกอบด้วย อ่างฯห้วยสามพาด วันละ 9.4 หมื่น ลบม. , อ่างฯกุดลิงง้อ วันละ 2.4 หมื่น ลบม.
ในการเตรียมรับมือกับฝนตกหนัก ชลประทาน จ.อุดรธานี แจ้งว่า ได้ทำการศึกษาพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ตามนโยบายของ จ.อุดรธานี และตามพื้นที่รายงานของ อปท. โดยในพื้นที่ อ.น้ำโสม และ อ.นายูง ได้ส่งผลการศึกษาให้ทุกพื้นที่แล้ว และวันนี้ได้ศึกษาแล้วเสร็จอีก 14 จุด ในพื้นที่ ทน.อุดรธานี และใกล้เคียง ประกอบด้วย มิตรประชา-โนนพิบูลย์-พรหมประกาย-ศรีชมชื่น ทน.อุดรธานี , หมู่บ้านพลินวิล-หนองบ่อ-แยกดอนอีไข-ซอยยุทธการ ทม .หนองสำโรง , นาทราย 1-มั่งคั่ง-แสงเจริญ11 ทต.หนองบัว , มิตรภาพ(บ้านจั่น) , อัมรินทร์-ศรีประจักษ์-สัมพันธุ์สุข ทต.บ้านจั่น
ซึ่งการศึกษาพื้นที่เสี่ยงได้นำเสนอ 1.จุดที่ อปท.แจ้งเป็นพื้นที่เสี่ยง+ข้อมูล , 2.รายงานพื้นที่รองรับน้ำฝนมีเท่าใด , 3.ทำเส้นทางการไหลของน้ำ , 4.คำนวนปริมาณการไหลของน้ำออกสูงสุดในช่วงเวลา , 5.คำนวนเปรียบเทียบการไหลของน้ำ กับปริมาณน้ำในที่ตกลงมา ในระดับ 60-80-100 มม.ต่อ ชม. ซึ่งพบว่าเมื่อฝนตกลงมามากกว่า 60 มม.ต่อ ชม.ส่งผลกระทบทั้ง 14 จุด และมีหลายจุดฝนตกลงมาเพียง 25-30 มม./ชม.ก็เกิดผลกระทบแล้ว
นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี มีข้อสั่งการว่า ให้อำเภอ และ อปท. นำพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนรายวัน/รายอำเภอ ล่วงหน้า 7 วัน 10-16 ก.ค.66 ของสถานีตรวจอากาศอุดรธานี ไปใช้เฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงตนเอง ด้วยการดูแลทางระบายน้ำ ให้น้ำระบายได้สะดวก สำหรับพื้นที่ชลประทาน จ.อุดรธานี ได้ศึกษาแล้วไปเตรียมป้องกัน ให้ขุดลอกเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ โดยเฉพาะในย่านเศรษฐกิจ 14 จุด หวังว่าหากมีฝนตกลงมาอย่างหนัก พื้นที่เสี่ยงจะสามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น และหาช่องทางเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคราต่อไป