จากกรณีมีพระภิกษุรูปหนึ่งใน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ร้องเรียนไปยัง กอ.รมน.(ส่วนกลาง) ว่า พบผู้อิทธิพล ชื่อกำนันคาวบอย กุลราช เข้าครอบครองพื้นที่และบริหารจัดการเผาศพของสำนักสงฆ์ป่าข้าวสาร หมู่ 10 ต.ข้าวสาร อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ตั้งแต่ปี 2559 โดยไม่ได้รับอนุญาตและคิดค่าฌาปนกิจรายละ 1,000 บาท จากญาติโยม ทำให้สำนักสงฆ์สูญเสียรายได้ สำนักสงฆ์มีพระเพียง 2 รูป จึงไม่กล้าขัดแย้งกับกลุ่มผู้มีอิทธิพล สร้างความหวาดกลัวเป็นอย่างมาก จึงขอให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.เข้ามาช่วยเหลือ
ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 12 กันยายน 2565 นายวิมล สุระเสน นายอำเภอบ้านผือ มอบหมายให้นายประจวบศักดิ์ อารมณ์ ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง เดินทางไปที่ศาลาฌาปนกิจสถาน บ้านข้าวสาร หมู่ 10 ต.ข้าวสาร ซึ่งอยู่ติดกับสำนักสงฆ์ป่าบ้านข้าวสาร เพื่อประชุมกรณีดังกล่าวเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยมีนายคาวบอย กุลราช กำนันตำบลข้าวสาร พระสาทิพย์ เขมวีโร อายุ 42 ปี เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ป่าบ้านข้าวสาร หมู่ 10 ต.ข้าวสาร เจ้าหน้าที่ อบต.ข้าวสาร และชาวบ้านจำนวน 60 คน เข้าร่วมประชุม และให้แสดงความคิดเห็น โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
พระสาทิพย์ เขมวีโร อายุ 42 ปี เจ้าอาวาสนำนักสงฆ์ป่าบ้านข้าวสาร เปิดเผยว่า บวชมา 22 พรรษา เดินทางมาจาก จ.อยุธยา มาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ป่าบ้านข้าวสาร 7 ปี มีพระประจำอยู่สำนักสงฆ์ 2 รูป ชอบพัฒนาปั้นพระพุทธรูป ฌาปนกิจสถาน หรือเมรุตั้งอยู่ใกล้สำนักสงฆ์ พระไม่ได้บริหาร แต่เป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน จึงรู้สึกไม่โปร่งใส เพราะการบริหารฌาปนกิจสถานโดยชาวบ้านหมู่ 10 ชุดเดียว หลังจากมีการประชุมหาทางออกร่วมกัน สรุปว่าให้บริหารในรูปแบบคณะกรรมการโดยชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน จึงคลายความกังวล และพยายามผลักดันสำนักสงฆ์ให้เป็นวัด ซึ่งวัดไม่ขาดเหลืออะไร หากชาวบ้านอยากมาทำบุญที่วัดก็มาได้ตลอด รู้สึกโล่งใจที่ปลัดอำเภอมาช่วยแก้ปัญหา และไม่ติดใจอะไร
นายคาวบอย กุลราช อายุ 57 ปี กำนันตำบลข้าวสาร เปิดเผยว่า พระเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีอิทธิพล เรียกเก็บเงินชาวบ้านค่าฌาปนกิจศพละ 500 บาท เอาไปใช้ส่วนตัว สมัยก่อนผู้ที่ดูแลเมรุตั้งแต่ต้นจะเก็บศพละ 500 บาท คนยากไร้ฌาปนกิจฟรี รวมทั้งร่วมทำบุญด้วย ส่วนเจ้าภาพบางรายให้มากกว่า 500 บาท เพราะความพอใจของเจ้าภาพ ที่พอใจในการบริหาร และด้วยแรงศรัทธาที่จะทำนุบำรุงฌาปนกิจสถานแห่งนี้ พวกเราก็รับไว้ ใช้ในเวลาจำเป็น โดยบริหารในรูปแบบคณะกรรมการ 25 คน แต่ทำงานจริง 5 คน มีเหรัญญิกหมู่บ้านเป็นคนเก็บเงิน ทำบัญชี ตั้งแต่ปี 2560 มีเงินบริจาค 28,000 บาท ใช้จ่ายไป 25,000 กว่าบาท เหลือเป็นเงินสด 2000 กว่าบาท รูปแบบการบริหารใหม่ จะใช้คณะกรรมการ 2 หมู่บ้าน ทั้งหมู่ 4 และหมู่ 10 ศพต่อไปก็จะคณะกรรมการชุดใหม่เก็บรักษาเงิน ผู้ใหญ่บ้านและกำนันเป็นที่ปรึกษา
นางเครือคำ วงศ์สง่า อายุ 50 ปี ชาวบ้านหมู่ 10 บ้านข้าวสาร เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 5-6 ปี สำนักสงฆ์ไม่ให้กำนันเข้าวัด เพราะเกรงว่าจะมีปัญหากับพระมากกว่านี้ ซึ่งกำนันก็ไม่เข้าวัด ปกติเมื่อชาวบ้านนำศพมาเผาก็จะเสียค่าใช้และบำรุงรักษาศพละ 500 บาท ถ้าเป็นศพคนจน คนยากไร้ ก็จะไม่มีเก็บเงิน ส่วนตัวและชาวบ้านคิดว่าไม่แพง สามารถจ่ายได้ การเก็บเงินก็มีคณะกรรมการเก็บเป็นเงินสด หากฌาปนกิจสถานหลังคาพังเสียหายก็จะนำมาซ่อมแซมปรับปรุง วันนี้ปลัดอำเภอมาประชุมวันนี้ถือว่าดี จะได้สามัคคีกัน หากทางออกร่วมกันจะได้ไม่ทะเลาะกัน
นายประจวบศักดิ์ อารมณ์ ปลัดอำเภอ กล่าวว่า สำนักสงฆ์มีพื้นที่ 15 ไร่ ติดกับฌาปนกิจสถาน เพราะมีงานศพก็ต้องเกี่ยวข้องกัน และใช้เมรุร่วมกัน 2 หมู่บ้าน คือหมู่ 4 และหมู่ 10 ซึ่งฌาปนกิจสถานเกิดขึ้นก่อนสำนักสงฆ์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีคณะกรรมที่ดูแลฌาปนกิจสถานเป็นชาวบ้านหมู่ 10 จำนวน 20 คนเป็นผู้ดูแล โดยมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้บริหารจัดงานเรื่องเงิน โดยเก็บค่าใช้สถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าดำเนินการ รายละ 500 บาท ต่อมาพระจากสำนักสงฆ์มีการกล่าวหาว่า กำนันบ้านข้าวสารเป็นผู้มีอิทธิพล เก็บเงินค่าเผาศพมากกว่า 500 บาท และการจัดการไม่โปร่งใส
“ฌาปนกิจสถานสร้างขึ้นปี 2531 มีงบประมาณจกทางราชการ ภาครัฐ เอกชน ชาวบ้านสนับสนุนต่อเติมอาคาร ส่วนสำนักสงฆ์สร้างปี 2543 จากการประชุมมีชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน จำนวน 60 คน เข้ามาประชุมสรุปว่า 1.จัดให้ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านเป็นคณะกรรมร่วมกันในการบริหารจัดการรายได้และรายจ่าย 2. ไม่สามารถนำฌาปนกิจสถานไปรวมกับสำนักสงฆ์ เนื่องจากฌาปนกิจสถานเกิดก่อนสำนักสงฆ์และเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ 3.ชาวบ้านจะผลักดันสำนักสงฆ์ให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์ ซึ่งชาวบ้านได้มีการลงชื่อยอมรับในมติ”