ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี นำโดยนางพิกุลทอง โทธุโย อายุ 57 ปี กรรมการกลุ่มฯ นำสมาชิกมากกว่า 50 คน ออกมาต่อต้าน “เหมืองแร่โพแทชอุดรธานี” ด้วยการนำป้ายต่อต้านขนาดใหญ่ มาติดไว้ริมถนนมิตรภาพ ทางเข้าไปยัง บ.โนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี หลังจากเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้รับรายงานความคืบหน้า ขั้นตอนการขอประทานบัตร “เหมืองแร่โพแทช” ของ บ.เอเชีย แปซิฟิก โปแตซ คอร์เปอร์เรชั่น จก. หรือ เอพีพีซี. ซึ่งส่งผลให้การขอประทานบัตรเดินหน้าต่อไป
นางพิกุลทอง โทธุโย อายุ 57 ปี กรรมการกลุ่มฯ ได้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี” ได้ต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี เป็นเวลากว่า 20 ปี โดยมีงานศึกษาทางวิชาการสนับสนุนการต่อสู้ และมีข้อเสนอทางเลือกของการพัฒนาในระดับพื้นที่ ตลอดจนข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดการทรัพยากรแร่โพแทช ที่ผ่านมาเรามีข้อเรียกร้องตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงนายกรัฐมนตรี กลุ่มฯได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการใหม่ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หรือแม้แต่ อบต.ในพื้นที่ มีมติไม่เห็นชอบกับเหมืองโพแทช เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ได้มีมติ ให้บริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ อิตาเลียนไทย เข้ามาทำเหมืองแร่โปแตช บนผืนดินของเรา
ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช ไปแล้ว 2 พื้นที่ คือ 1.) ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ประมาณ 9,700 ไร่ ของบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) มีกำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี 2.) ที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 9,000 ไร่ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด มีกำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี โดยเฉพาะที่อำเภอด่านขุนทด ได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองเมื่อปี 2559 ถึงตอนนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ซึ่งเป็นผลกระทบจากความเค็มของเกลือที่ปนเปื้อนสู่พื้นที่ทำการเกษตร ไม้ยืนต้นตาย บ้านเรือนถูกเกลือกัดกร่อน ผุพัง ผลกระทบเหล่านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) ไม่เคยมีแนวทางในการแก้ไขผลกระทบที่ชัดเจน ส่วนรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) ที่กล่าวอ้างว่าจะแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นแค่กระดาษเปื้อนหมึกเท่านั้น
โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 26,400 ไร่ มีกำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี อายุประทานบัตร 25 ปี ซึ่งพวกเราไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลประยุทธ์และหน่วยงานภาครัฐจะมีมาตรการในการดูแลแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนของเราได้ เพราะ มติ ครม.ทำให้เราเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลตัดสินใจบนผลประโยชน์ของนายทุนที่หยิบยื่นให้เพื่อเตรียมการเลือกตั้งสมัยหน้า โดยไม่สนใจข้อเรียกร้องที่มีเหตุผลของพวกเรา เรากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จะต่อสู้ เพื่อปกป้องบ้านของเรา เราจะปกป้องผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ของเรา เรามีสิทธิที่จะกำหนดชีวิตของเราเอง ไม่ใช่สัตว์การเมืองหรือเผด็จการทหารหน้าไหน พร้อมประกาศส่งท้าย “มึงสร้าง….กูเผา”