ผังเมืองอุดรธานี 2 ฉบับ ฉบับแรกคิดมาตั้งแต่ ปี 49 ยังใช้อยู่ อีกฉบับ คสช.ประกาศใช้ปี 60 ล้าสมัยกระทบการลงทุน กกร.จับมือสร้างเอกภาพ ตั้งทีมทำข้อเสนอทิศทางเดียวกัน
เวลา 14.00 น. วันที่ 11 มกราคม 2564 ที่ห้องประชุมหอการค้า จ.อุดรธานี ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) อุดรธานี มีนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี นายวีระพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี นายเอกณรงค์ กองพันธุ์ ประธาน คพอ.อุดรธานี นายโกวิทย์ จะระคร ประธานชมรมธนาคารอุดรธานี และรองประธานฯแต่ละองค์กร ร่วมประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหาผังเมืองล้าสมัย
ที่ประชุมได้นำเสนอปัญหาผังเมือง 2 ฉบับของ จ.อุดรธานี ที่มีผลบังคับใช้ในขณะนี้ มีการศึกษามานานทศวรรษครึ่ง ไม่ทันสภาพเมืองที่เติบโตเร็วมาก หรือเท่ากับเป็นผังเมืองล้าสมัย ไม่ว่าจะเป็นผังเมืองรวมจังหวัดอุดรธานี ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ใช้อำนาจ ม.44 ประกาศใช้มาตั้งแต่ 16 เม.ย. 2560 บังคับใช้พื้นที่ทั้งจังหวัด มีประเด็นที่เกิดปัญหามากพอสมควร อาทิ พื้นที่ใช้สอยอาคารไม่เกิน 2,000 ตรม.เท่านั้น รวมไปถึงความสูงอาคารด้วย
อีกฉบับคือผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี บังคับใช้ในเขต ทน.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียง ศึกษามาตั้งแต่ พ.ศ.2549 ต่ออายุมีผลบังคับใช้จนถึงขณะนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้โยธาธิการและผังเมือง มอบอำนาจหน้าที่ให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ซึ่ง ทน.อุดรธานี ร่วมกับ อปท.ใกล้เคียง ว่าจ้างที่ปรึกษามาดำเนินการ ซึ่งการศึกษาไม่ตรงกับข้อเสนอเอกชน และยังมีปัญหากับหน่วยงานรัฐ จึงไม่มีการส่งงานในช่วงท้ายๆ กลายเป็นคดีความกันอยู่
นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี กล่าวสรุปการประชุมว่า อุดรธานีประกาศเป็นเมืองศูนย์กลาง การค้า การลงทุน อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีนักลงทุนระดับชาติสนใจอุดรธานี แต่เราเองกลับ “ติดกับดับผังเมือง” เขาจะมาลงทุนที่บ้านเรา กลับมีอุปสรรคทำอะไรไม่ได้ ที่ผ่านมาภาคเอกชนก็พยายาม แต่ก็เหมือนจะเข้าไม่ถึง ภาครัฐก็มองในแง่ภาครัฐ ไม่ได้มองข้อเสนอภาคเอกชน การตอบสนองเชิงเศรษฐกิจก็ไม่เกิด
“ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า การที่กรมโยธาธิการและผังเมือง อนุมัติงบประมาณมาแก้ไขที่ปรึกษาทิ้งงาน ภาคเอกชนอุดรธานีในนาม กกร.อุดรธานี จะตั้งคณะทำงานจากทุกองค์กร เข้ามาร่วมกับศึกษาพิจารณา ในมุมมองของเศรษฐกิจ ให้เป็นข้อเสนอของภาคเอกชน เข้าสู่การศึกษาทำผังเมืองฉบับใหม่ นอกจากนี้จะนำเข้าสู้การพิจารณาของที่ประชุม กรอ.อุดรธานี ให้ติดตามเรื่องผังเมืองทุกครั้ง เพื่อให้ขับเคลื่อนแก้ไขโดยเร็ว ทันกับรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง “