นายวิชัย จาตุรงค์กร ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง จ.อุดรธานี แจ้งว่า ฤดูฝนปีนี้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 และจะสิ้นสุดในราวกลางเดือนตุลาคม 2563 จนถึงขณะนี้ฤดูฝนเหลืออยู่ราว 1 เดือน แต่จากการติดตามสถานการณ์น้ำ ในอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงที่มีความจุ 135 ล้าน ลบม. มีน้ำไหลเข้าอ่างฯแล้ว 36.23 ล้าน ลบม. ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกัน 51.2 %
“ ส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงวันนี้ มีปริมาณเก็บกักอยู่เพียง 43.69 ล้าน ลบม. หรือ 32.23 % ของความจุ น้อยกว่าวันเดียวกันในปี 62 ที่มีปริมาณน้ำ 76.25 ล้าน ลบม. คิดเป็น 56.24 % ของความจุ ซึ่งหากห้วงเวลาที่เหลือยังไม่มีน้ำไหลลงอ่างฯ คาดว่าจะมีน้ำเมื่อสิ้นฤดูฝนต่ำกว่า 70 ล้าน ลบม. จะเกิดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นการเตรียมการจึงขอให้ประชาชน ร่วมกันประหยัดการใช้น้ำ ให้มีน้ำเพียงพอการอุปโภคบริโภคไปตลอดปี ”
ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง จ.อุดรธานี แจ้งด้วยว่า การบริหารจัดการน้ำใน “อ่างฯห้วยหลวง”ต่อไปนี้ จะให้ความสำคัญกับการเก็บกักน้ำไว้ ในอ่างฯห้วยหลวงเพื่อสำรองไว้ใช้ในกิจการ เพื่อการอุปโภคบริโภค (ผลิตน้ำประปาป้อนเมืองอุดรธานี) ในเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง ปี 63/64 และหากมีปริมาณน้ำมากพอ โครงการฯจะพิจารณาจัดสรรให้ กับกิจกรรมปลูกพืชนาปี และอื่นๆตามความจำเป็น
นายวิชัย จาตุรงค์กร ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง จ.อุดรธานี ตอบข้อซักถามด้วยว่า จากการสำรวจพื้นที่โครงการชลประทาน พบว่าฝนที่ตกลงมาน้ำไม่ไหลเข้าอ่างฯ เป็นลักษณะฝนตกท้ายอ่างฯ ทำให้พื้นที่การเกษตรมีน้ำเพียงพอ หล่อเลี้ยงต้นข้าวได้ไม่ต้องส่งน้ำให้ ขณะที่ประตูน้ำห้วยหลวงบ้านหัวขัว (ใต้อ่างฯห้วยหลวง) มีน้ำไหลเข้าพื้นที่จำนวนมาก โครงการได้ผันน้ำไปให้แหล่งน้ำ สำรองผลิตน้ำประปาไปบ้างแล้ว…..