280 คน พนักงาน-ลูกจ้าง รง.น้ำตาลกุมภวาปี เรียงหน้ารับซองประวัติ กับยอดเงินชดเชย 3 ส่วน ทันทีที่ประธานบริษัทฯ ประกาศปิดโรงงาน นายก ทต.กุมภวาปี ตกใจโรงงานปิดตัวเอง ยอมรับกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ-สังคง เตรียมหาแนวทางผ่อนหนักเป็นเบา
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จก. อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ยังไม่ได้ออกมาแถลงข่าว หลังนายฮิเดยูกิ มุราคามิ ประธานบริษัทฯ เดินทางมาพบกับพนักงาน-ลูกจ้าง กว่า 280 คน แจ้งมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น (7 มิ.ย.64) ให้ “ปิดโรงงาน” ทำให้พนักงาน-ลูกจ้างพ้นสภาพงาน 3 ก.ค.64 ระหว่างนี้โรงงานประกาศหยุดพักร้อน ทั้งนี้ผู้สมัครใจลาออก จะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย , เงินช่วยเหลือพิเศษ และเงินช่วยเหลือจากการลาออก ส่วนชาวไร่อ้อยมีสัญญากับโรงงาน ให้ส่งอ้อยให้กับ รง.น้ำตาลเกษตรผล แต่ยังไม่ชัดเจนว่า รง.น้ำตาลกุมภวาปี จะปิดทั้งหมดหรือบางส่วน
สำหรับการประกาศปิดกิจการของ บ.น้ำตาลกุมภวาปี จก. เชื่อว่าได้มีการเตรียมการมาแล้ว เพราะพนักงาน-ลูกจ้างทั้ง 280 คน จะได้รับซองเอกสารส่วนตัว ระบุชื่อ-สกุลของแต่ละคน ภายในซองจะเป็นการเอกสาร ประวัติการทำงาน-ค่าแรงงาน พร้อมการคิดคำนวณเงินชดเชย 3 ส่วน ตามโครงการมาราอิ …จากกันด้วยดีสู่อนาคตใหม่ แยกเป็นเงินชดเชยตามกฎหมาย , เงินช่วยเหลือพิเศษ และเงินช่วยเหลือจากการลาออก ที่แบ่งตามอายุงาน ประกอบด้วย อายุงาน 120วัน-1ปี ได้ 90 วัน , 1-3 ปี ได้ 165 วัน , 3-5 ปี ได้ 270 วัน , 5-6 ปี ได้ 300 วัน , 6-10 ปี ได้ 375 วัน , 10-20 ปี ได้ 480 วัน และ 20 ปีขึ้นไป 610 วัน ซึ่งยังไม่มีพนักงาน-ลูกจ้างออกมาปฏิเสธแนวทางนี้
ขณะที่มีการส่งบันทึกเสียง ของนายฮิเดยูกิ มุราคามิ ประธานบริษัทฯ กล่าวเมื่อวานนี้กับพนักงาน-ลูกจ้าง เป็นภาษาญี่ปุ่น และมีผู้แปลเป็นภาษาไทย ระบุว่า ขอบคุณพนักงานทุกท่าน ที่มาเนื่องจากเรียกประชุมกะทันหัน เพื่อประกาศเรื่องสำคัญ แต่ไม่สามรถแจ้งให้ทราบพร้อมกันในที่เดียวกันได้ ต้องขออภัยด้วยนะครับ และในวันนี้ทางบริษัทได้มีการ เตรียมมาตราการรักษาความปลอดภัย และทุกท่านคงทราบอยู่แล้วนะว่าตัวหนังสือที่เราได้มีหน่วยงานราชการ ก็ได้ข้อมูลเผยแพร่ไปทางอินเตอร์เน็ต และทางหนังสือพิมพ์ ทางบริษัทจึงต้องขออภัย
เรื่องที่จะแจ้งกับทุกท่านก็คือ เรื่องมติที่ประชุมของผู้ถือหุ้น ที่ได้มีขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ได้มติที่ให้โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี ไม่ดำเนินการในฤดูกาลผลิตนี้ บริษัทของเราเริ่มดำเนินการในชื่อ ชิบาโต้ ประเทศไทย มาตั้งแต่ปี2506 ซึ่งจะครบรอบ 58 ปีในปีนี้ครับ การที่บริษัทจะปิดกิจการลง คิดว่าพนักงานทุกท่านคงจะมีความรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงฝ่ายบริหารเอง ก็มีความเสียใจไม่แพ้กัน ที่ผ่านมาทางบริษัทมีการแจ้งให้พนักงานทราบ ถึงสถานการณ์ที่ยากลำบากของบริษัทมาหลายต่อหลายครั้ง
เราพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อปรับปรุงสภาพการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และทางหัวหน้างานเองที่จัดหาอ้อย รวมถึงประสิทธิภาพในการผลิต จริงๆแล้วก็ยังประสบสภาพขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิต ได้รับความร่วมมือจากพนักงานทุกท่าน ร่วมถึงคุณดาโจฯที่นั่งอยู่ที่นี่ด้วย เราสามารถฟื้นฟูการผลิตได้เท่ากับระดับเมื่อ 10 ปีก่อนได้แล้ว แต่ผลลับคือการผลิตในตัวเลขของเราก็คงต่ำกว่าค่าการเฉลี่ยของโรงน้ำตาล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่มาก รวมถึงแผนธุรกิจปีนี้และปีหน้าก็คาดว่าจะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
ในฐานะฝ่ายผู้บริหารเอง หากในอนาคตบริษัทยังขาดทุนอย่างต่อเนื่อง กับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในตอนนี้ แทนที่เราจะปล่อยให้เงินทุนสะสม ที่จะใช้ชดเชยให้กับพนักงาน เมื่อออกจากงานเริ่มร่อยหลอลงเรื่อย ๆทุกปี บริษัทจึงคิดว่าเราควรจะหยุดกิจการในระหว่างที่ยังพอมีผลกำไร และจ่ายค่าชดเชยการออกจากงานให้ถูกต้องและเหมาะสม ให้กับพนักงานหน้าจะเหมาะสมกว่า คิดว่าอนาคตหลังจากนี้พนักงานของเรายังต้องดำเนินต่อไป ดังนั้นแล้วทางผู้ถือหุ้น มองว่าการจ่ายเงินชดเชยให้ในจุดนี้เพื่อให้พนักงานเริ่มต้นชีวิตใหม่ หน้าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ทางผมคิดว่าพนักงานทุกท่าน พยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะทำให้บริษัทแห่งนี้ดียิ่งขึ้น
ในส่วนของทางผู้บริหารก็มีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นแล้วแทนที่เราจะให้พนักงานลำบากมากไปกว่านี้ ผมเชื่อว่าพนักงานทุกท่านรักและภาคภูมิใจในบริษัทแห่งนี้ ซึ่งผมก็รู้สึกเช่นเดียวกันกับท่าน ผมมาประจำที่บริษัทแห่งนี้ได้เพียง 2 ปีกับ 6 เดือน แต่ครั้งแรกที่ได้มาโรงงานนี้ คือในช่วงปี 2537 คือผมมีความทรงจำกับบริษัทนี้ตั้งแต่ตอนนั้น ในวันนี้การที่ผมจะต้องทำการแจ้งมติของผู้ถือหุ้นให้กับทุกท่าน มันเป็นเรื่องที่ทำให้ผมเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ในจุดนี้ผมอยากจะขอให้ทุกท่านเข้าใจว่า พวกเราฝ่ายบริหารทุกคน ก็รู้สึกเสียใจเช่นเดียวกับพนักงาน
ทุกท่านน่าจะจำภาพของฝ่ายบริหาร ยืนอยู่ที่ประตูทุกเช้า กล่าวคำทักทายพนักงาน การที่ผมไปยืนอยู่ที่ประตูทุกเช้า เพื่อจะพยายามสร้างรอยยิ้มให้กับทุกท่าน รวมถึงให้กำลังใจกับทุกท่าน สำหรับรอยยิ้มของทุกท่านนั้น ผมจะไม่มีวันลืมไปตลอดทั้งชีวิตนี้ รวมถึงตอนงานกีฬาสี ที่ผมหกล้มที่บริเวรสนามหญ้า ก็มีพนักงานมาช่วยพยุงผมให้ลุกขึ้น ซึ่งความทรงจำในจุดนี้มันจะตราตึงอยู่ในใจผมตลอดไป ซึ่งผมมีเรื่องหนึ่งยากจะขอร้องกับพวกท่าน เพื่อให้การปิดโรงงานกุมภวาปี อันเป็นที่รักของเราจบลงแบบสวยงาม หากบริษัทแห่งนี้ เป็นบริษัทที่ทุกท่าน รักและภาคภูมิใจ ผมขอให้พวกเราทุกคนมาจบตำนานของบริษัทนี้อย่างสวยงามด้วยกัน
นายมนัส พลน้ำเที่ยง นายกเทศบาลตำบลกุมภวาปี เปิดเผยว่า รู้เรื่องปิดโรงงานน้ำตาลวานก่อน เมื่อรู้เรื่องก็ตกใจ ก็สั่งให้ตรวจสอบหาข้อมูล เพราะโรงงานน้ำตาลเป็นธุรกิจหลัก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยโรงงานยังไม่ได้แจ้งทางเทศบาล และยังไม่มีการประสานที่จะเข้ามาพูดคุย เข้าใจว่าทางโรงงานก็จะปิดข่าว เพราะกลัวมีการชุมนุมของพนักงาน และก็ทราบข่าวพร้อมกันวานก่อน เท่าที่ได้ข้อมูลในส่วนการผลิต จะมีการส่งไปยังโรงน้ำตาลเกษตรผล เพราะมีการขยายโรงงานเพื่อรองรับการผลิตนานแล้ว แต่ทางเทศบาลฯไม่ทราบว่าจะถึงกับเป็นการปิดโรงงานไปเลย แต่อาจจะเหลือไลน์ของการบรรจุเอาไว้
“ การปิดโรงงานน้ำตาลในแง่เศรษฐกิจและสังคม จะมีผลกระทบในภาพร่วมของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นคนตกงาน ซึ่งโรงงานน้ำตาลอยู่คู่กับชาวกุมภวาปีมานานมาก ในการปิดตัวลงครั้งนี้ถือว่าส่งผลกระทบเศษฐกิจโดยภาพรวม เพราะโรงงานน้ำตาลมีคนงานหลายร้อยคน ถึงเวลาพักเที่ยงจะมีคนงานออกมาซื้อหาใช้จ่ายจำนวนมาก และยังรวมไปถึงธุรกิจบางตัวที่มีการผูกโยง กับโรงงานน้ำตาลก็จะมีผลกระทบในภาพร่วมด้วยเช่นกัน คงจะต้องปรึกษาหารือเพื่อหาทางออก ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด ตอนนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุย เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นเร็วมา เร็วจนทางเรายังไม่เตรียมตัว วันนี้เรียกพนักงานให้ข้อมูลแล้ว
นายกเทศบาลตำบลกุมภวาปี กล่าวว่า ผอ.กองคลัง ชี้แจงในส่วนรายได้จากโรงงานน้ำตาล เป็นภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างปีละ 1.5 ล้านบาท ปีนี้รัฐบาลมีการลดหย่อน 90 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเหลือ 1.5 แสนบาท เมื่อปิดกิจการไปแล้ว ยังต้องดูว่ายังคงดำเนินการในส่วนไหน อีกสวนธุรกิจการค้าอื่น ๆ ที่กำลังซื้อเกิดจากโรงงานน้ำตาล สังเกตุจากเมื่อถึงฤดูเปิดหีบ ผู้คนจะออกมาจับจ่ายซื้อขายคึกคักตั้งแต่เช้า ชาวไร่มาเบิกเงินจากโรงงาน ก็จะเอาเงินสดๆมาจับจ่ายซื้อของ ถ้าไม่มีโรงงานบรรยากาศคงเปลี่ยน ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐจัดเก็บให้ ก็คงจะลดลงตามไปด้วย