วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกศิลปวัฒนธรรม19 ปี ดัน“ภูพระบาท”เป็นมรดกโลก

19 ปี ดัน“ภูพระบาท”เป็นมรดกโลก

“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เริ่มขับเคลื่อนเสนอให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” ทางวัฒนธรรม เริ่มต้นขอขึ้นบัญชีชั่วคราวเมื่อ 19 ปีมาแล้ว ก่อนเสนอข้อมูลให้พิจารณา ครั้งแรกก็ต้องถอยมาตั้งหลักใหม่ และคณะรัฐมนตรีมีมติให้เสนอข้อมูลใหม่ กลับไปให้พิจารณาเป็นครั้งที่สอง เมื่ออังคารที่ 25 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

นายนภสินธุ์ บุญล้อม หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี กล่าวว่า คณะทำงานจัดทำข้อมูลเสนอศูนย์มรดกโลก ได้ร่วมกันทำงานอย่างละเอียดรอบครอบ ตามกรอบระเบียบที่กำหนด ตลอดจนประชาชนในพื้นที่สนับสนุน เรามีความมั่นใจว่าอุทยานประวัติศาสตร์ มีความสำคัญเพียงพอเป็นมรดกโลก อยู่ที่คณะกรรมการศูนย์มรดกโลกจะพิจารณา

หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เล่าว่า รัฐบาลไทยได้เสนอชื่ออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เข้าสู่บัญชีรายชื่อชั่วคราว ไปยังศูนย์มรดกโลก ตั้งแต่ พ.ศ.2547 จากนั้นจึงได้เริ่มจัดทำเอกสาร ซึ่งใช้เวลานานพอสมควร เมื่อเสนอเอกสารไปแล้ว ศูนย์มรดกโลกได้ส่งนักวิชาการ มาตรวจพื้นที่เปรียบเทียบเอกสาร เมื่อ ก.ย.2558

“ ครั้งนั้นผู้ตรวจประเมินแจ้งว่า ข้อมูลที่เราเสนอไปยังไม่ชัดเจนพอ ที่แสดงถึงคุณค่าที่มีความสำคัญ และส่งเอกสารกลับมาเพื่อให้เราทบทวนอีกครั้ง หรือขอให้เราเพิ่มข้อมูลเข้าไปอีก คณะทำงานตัดสินใจทำข้อมูลใหม่ ไม่เร่งรัดปรับปรุงข้อมูลชุดเดิมส่งไปให้พิจารณา ”

นายนภสินธุ์ บุญล้อม หน.อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ระบุ พ.ศ.2562 ครม.มีมติว่า ประเทศไทยควรมีมาตรการเพิ่มขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว โดยผลักดันแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกมากขึ้น จึงเร่งรีบจัดทำเอกสารขึ้นมาใหม่ มีขั้นตอนทำงานกันอย่างเข้มข้น จนมาถึงขั้นตอนสุดท้ายของไทย คือ ครม.มีมติให้ส่งไปพิจารณา คาดว่า ก.ย.ปีนี้ จะมีตัวแทนศูนย์มรดกโลกมาดูพื้นที่จริง ซึ่งอาจจะข้อข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนส่งให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณา

“ เอกสารมีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ครอบคลุมพื้นที่ 3,662 ไร่ ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 3,599 ไร่ และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน 62 ไร่ ที่เน้นความโดดเด่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมต่อเนื่อง ที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกัน ของการปักเสาหินล้อมรอบเพิงหิน จนกลายเป็นลานศักดิ์สิทธิ์หรือลานพิธี เป็นการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิม และความเชื่อแบบพระพุทธศาสนา และเป็นแหล่งเดียวที่ตั้งอยู่บนภูเขา และยังคงสภาพสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุดในไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ”

นายนภสินธุ์ บุญล้อม หน.อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท กล่าวด้วยว่า พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีกฎหมายป่าไม้ , กฎหมายโบราณสถาน ตลอดจนข้อบัญญัติท้องถิ่น มากำกับดูแลและสนับสนุนด้านอนุรักษ์ สามารถดูแลไม่ให้เสื่อมสลาย มีแผนแม่บทการอนุรักษ์ และพัฒนาฯ พ.ศ. 2565-2569 ผ่านการทำประชาพิจารณ์ การมีส่วนร่วมของชุมชน และประชาชนในพื้นที่ โดยประชาชนมาประกอบพิธีกรรม ทำกิจกรรมทางความเชื่อและศาสนา อาทิ การเวียนเทียนรอบสถานที่ตามความเชื่อได้ตามประเพณี

ราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี คณะกรรมการมรดกโลกจะมีการประชุมใหญ่ คาดว่า “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” จะถูกบรรจุเข้าวาระการประชุมในปี พ.ศ.2567 เพื่อพิจารณาว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่…

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments