อุดรธานีจับเข่าคุยส่งเสริมท่องเที่ยว “ทะเลบัวแดง” ให้มากกว่าช่วงดอกบัวบาน 3-4 เดือน ท่ามกลางอุปสรรคระเบียบ กฎหมาย หน่วยงานรับผิดชอบ ต่างคนต่างธรรม และจอกหูหนูยักษ์ เตรียมทำแผนแม่ท่องเที่ยวเฉพาะ มอบท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเป็นเลขาฯ
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องประชุมสบายดี ชั้น 4 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมติดตามการดำเนินการส่งเสริมท่องเที่ยวทะเลบัวแดง อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี มี ผอ.ท่องเที่ยวและกีฬา จ.อุดรธานี ในฐานะเลขาฯ นำหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง , ผอ.ททท.สนง.อุดรธานี , ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ , ประธาน 5 ท่าเรือท่องเที่ยวทะเลบัวแดง ประกอบด้วยท่าเรือบ้านเดียม อ.กุมภวาปี-ท่าเรือแชแล อ.กุมภวาปี -ท่าเรือโนนน้ำย้อย อ.กุมภวาปี-ท่าเรือเชียงแหว อ.กุมภวาปี-ท่าเรือดอนคง อ.ประจักษ์ศิลปาคม ร่วมประชุมระดมความคิดเห็นร่วมพัฒนาให้ “ทะเลบัวแดง” มีความยั่งยืนตลอดไป
นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวนำว่า นายราชันย์ ซั้นหั้ว ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ให้ความสำคัญกับ “หนองหานกุมภาปี” หรือ “ทะเลบัวแดง” ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทำให้เกิดการประชุมครั้งนี้ขึ้นมา ให้เกิดการใช้พื้นที่ทั้ง 24,000 ไร่ สร้างงานสร้างรายได้ จากตั้งแต่มีการท่องเที่ยวทะเลบัวแดงมากว่า 20 ปี เราสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 3-4 เดือนเท่านั้น และยังต้องขึ้นอยู่กับธรรมชาติทุกปี ทำอย่างไรจะเกิดการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จึงขอให้ผู้เข้าประชุมในครั้งแรก ร่วมกันรายงานข้อเท็จจริง สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนข้อเสนอแนะ นำไปปรับแก้ให้เกิดความยั่งยืน
เริ่มที่หน่วยงานราชการ ระบุว่า หนองหานกุมภวาปี หรือทะเลบัวแดง มีหน่วยงานราชการ และข้อกฎหมายเกี่ยวข้องจำนวนมาก กลายเป็นอุปสรรคสำคัญ อาทิ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ , พื้นที่เป็นที่ดินของรัฐ อยู่ในความดูแลกรมชลประทาน , อยู่ในระเบียบกรมทรัพยากรน้ำ , เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ของกรมอุทยาน , ที่ดินสาธารณะประโยชน์ และอื่นๆ ทำให้มีขั้นตอนการใช้ประโยชน์ที่ดินทับซ้อน ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที ขณะที่ผ่านมามีปัญหาหน่วยงานที่เข้าไปสนับสนุน ต่างคนต่างทำไม่มีการประสานงาน แม้จะมีแผนแม่บทในการพัฒนาหลายฉบับ แต่ก็กระจัดกระจายไม่มีความชัดเจน น่าจะมีแผนแม่บทพัฒนาการท่องเที่ยวเฉพาะ
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอุดรธานี และเขตห้ามล่าหนองหานกุมภวาปี สนง.พื้นที่อนุรักษ์ 10 ขอให้แต่งตั้ง สนง.ทรัพยากรน้ำภาค 3 ที่รับถ่ายโอนมาดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำแทน ทสจ. ให้มาเป็นคณะทำงานด้วย พร้อมเสนอให้นำธรรมชาติ และวิถีชีวิตชาวบ้าน ในและรอบหนองหานกุมภวาปี มาเป็นจุดขายเสนอนักท่องเที่ยว อาทิ นกประจำถิ่น และนกอพยพ มีมากกว่า 217 ชนิด บางชนิดพบว่าเป็นนกหายาก บางชนิดเป็นนกอพยพกลายเป็นนกประจำถิ่น และยังเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์นกหลายชนิด , มีควายน้ำหากินอยู่ในหนองหาน เหมือนกับควายน้ำที่ทะเลน้อย จ.สงขลา และวิถีชีวิตการหาอยู่หากิน หาสัตว์น้ำและพืชน้ำมาบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยอยักษ์” อีกทั้งน้ำเสนอพัฒนา “ดอนหลวง” เพื่อต้องรับนักท่องเที่ยว
นายก ทต.เชียงแหว อ.กุมภวาปี และนายก อบต.อุ่มจาน อ.ประจักษ์ฯ ให้ข้อมูลว่า รอบคันไดร์ 51 กม. อยู่ในความรับผิดชอบของราชพัสดุ โครงการฝายกุมภวาปีเป็นผู้ดูแลดูแล ทั้งในหนองหาน-คันไดร์-รอบคันไดร์ 90 ม. ตามด้วยพื้นที่สาธารณะประโยชน์ การบูรณาการการทำงานค่อนข้างยาก ต่างคนต่างทำงานไม่สามารถเชื่อมต่อได้ ขณะปัญหา “จอกหูหนูยักษ์” ที่ระบาดมาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีเรือของ กรมโยธาธิการและผังเมือง 2 ลำ และรถแบคโฮโป๊ะ ของฝายกุมภวาปี มาช่วยเก็บออกไปได้บ้าง รวมทั้งระดับน้ำในหนองหาน ต้องได้รับการบริหารให้ดีบัวแดงจึงจะงอก และเห็นด้วยกับ “แผนแม่บทท่องเที่ยวทะเลบัวแดง” ที่ประชาชนเห็นชอบด้วย
ประธานท่าเรือ 5 ท่าเรือ แจ้งเหมือนกันว่า จอกหูหนูยักษ์ระบาดรุนแรงขึ้น ทำให้ดอกบัวแดงลดความสวยงาม เป็นอุปสรรคในการเดินเรือ เข้า-ออกเรือท่องเที่ยวและเรือประมง ที่ท่าเรือบ้านเชียงแหว และท่าเรือบ้านโนนน้ำย้อย นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากโควิด-19 ก่อนหน้าการระบาดมีนักท่องเที่ยว 350,000 คน พอมาปีที่เกิดระบาด ต้องปิดท่าเรือก่อนปีใหม่ มีนักท่องเที่ยวปีนั้น 220,000 คน ตอนนั้นมีชาวบ้านลงทุนซื้อเรือ ธกส.ก็ปล่อยให้กู้ทำให้มีเรือใหญ่ 365 ลำ เมื่อไม่มีท่องเที่ยวชาวบ้านก็ขายเรือใช้หนี้ เหลือเรือราว 150 ลำ แม้กลับมาเปิดท่าเรืออีก นักท่องเที่ยวก็ยังมีน้อย ปี 65 มี 56,000 คน ปี 66 มี 45,000 คน และปีนี้เริ่ม 1-30 พ.ย.มีมาแล้ว 3,322 คน เกรงว่าในช่วงงานมหกรรมพืชสวนโลก จะมีเรือบริการนักท่องเที่ยวไม่เพียงพอ
นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี มีข้อสั่งการว่า ให้ท่องเที่ยวและกีฬา จ.อุดรธานี ตั้งเรื่องการทำแผนแม่บทท่องเที่ยวทะเลบัวแดง เพื่อเสนอมายังตนและเสนอต่อผู้ว่าฯต่อไป ให้หน่วยงานที่นำเสนอข้อมูลในวันนี้ ไปรวมรวมข้อมูลเพิ่มเติมในละเอียด อาทิ นก 217 ชนิด มีนกอะไรบ้าง พบที่ไหน เวลาไหน จะไปดูได้อย่างไร มีอุปกรณ์ดูนกอะไรบ้ารวมทั้งเรื่องของระเบียบกฎหมาย เพื่อนำเข้าที่ประชุมครั้งต่อไป โดยจะมีการขับเคลื่อนแผนงานไปพร้อมการทำผังแม่บท หากไม่ทันงานมหกรรมพืชสวนโลก ก็ยังจะต้องทำต่อเพื่อให้เกิดความยั่งยืน….