วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมรง.แป้งมันดังยอมไกล่เกลี่ยน้ำเสียหลุด

รง.แป้งมันดังยอมไกล่เกลี่ยน้ำเสียหลุด

โรงงานแป้งมันยักษ์ชื่อดัง ชาวบ้านร้องเรียนกลิ่นเหม็น-ฝุ่นละออง-น้ำเสีย ล่าสุดน้ำเสียหลุดออกใส่นาข้าว-บ่อปลา ครั้งแรกปลายพฤษภา ครั้งที่สองปลายสิงหา สำรวจเสียหายรายแปลง 29 ตุลา สรุปเสียหายไม่เกินล้านครึ่ง โรงงานขอปรับลด 31 ตุลา ชาวบ้านเสียงแข็ง 33 ราย โรงงานทบทวนไม่ปรับลด 23 ราย เหลือ 10 รายไกล่เกลี่ยใหม่

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตต์ ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานติดตามความเรื่องประชาชนได้รับความเดือดร้อน กลิ่น-ฝุ่นละออง-น้ำเสียไหลลงลำห้วย-พื้นที่เกษตรกรรม จากกิจการอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง มีผู้แทนนายอำเภอศรีธาตุ-อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี , หน่วยงานราชการเกี่ยวข้อง , สภาอุตสาหกรรมอุดรธานี , ผู้แทนโรงงานแป้งมันสำปะหลัง บ.ซีเค คอร์ปอเรชั่น จก. , ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ , ผู้แทนประชาชน 3 ตำบลเดือดร้อน คือ ต.หนองนกเขียน ต.นายูง อ.ศรีธาตุ และ ต.หนองหญ้าไซ อ.วังสามหมอ

ที่ประชุมรายงานติดตามความคืบหน้า กรณีน้ำเสียไหลออกจากโรงงาน ทำให้พื้นที่นาข้าว บ่อปลา ในพื้นที่ได้รับความเสียหาย 3 ตำบล จังหวัดอุดรธานีได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยอำเภอศรีธาตุ อำเภอวังสามหมอ ร่วมกับโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหาข้อยุติประชาชนที่เดือดร้อน ตามบัญชีสำรวจรับรองข้อมูล โดย การลงสำรวจรายแปลง 1.ความเสียหายผลผลิตนาข้าวราคา กก.ละ 15 บาท ผลผลิต 500 กก./ไร่ , 2. พืชไร่ตามบัญชีความเสียหายจริง , 3.พื้นที่ประมงยึดตาข้อตกลง 2 ฝ่ายและราคากลาง , 4.ถนนชำรุดให้โรงงานซ่อมแซม , 5.มลพิษทางอากาศพิจารณาครั้งต่อไป และ 6.การปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย และจัดหาพื้นที่กันชน

คณะกรรมการฯได้นัดประชุมไกล่เกลี่ยล่าสุด โรงงานแป้งมันสำปะหลัง ได้ขอปรับลดพื้นที่ความเสียหาย ที่คณะกรรมการฯได้ลงสำรวจทำบัญชีความเสียหายรายแปลงไปแล้ว โดยในพื้นที่ อ.วังสามหมอ มีผู้ได้รับกระทบรวม 4 ราย ยอมรับการปรับลดพื้นที่ 4 ราย (37,500 บาท) ประมงจ่ายตามจริง 2 ราย (46,500 บาท) , อ.ศรีธาตุ ผู้ได้รับผลกระทบ 52 ราย (1.34 ล้านบาท) ยอมรับการปรับลดพื้นที่ 13 ราย ไม่ขอรับ 1 ราย ไม่ยอมรับปรับลดพื้นที่ 33 ราย ประมงจ่ายตามจริง 5 ราย และถนนเสียหาย 3 สาย โรงงานยินยอมซ่อมถนนให้ โดยไม่จ่ายเงินเยียวยา ขณะในพื้นที่ อ.วังสามหมอ รายงานประชาชน 90 รายรับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ 90 ราย ไม่สามารถประเมินค่าเสียหาย ยังไม่จ่ายเงินเยียวยา

น.ส.จรรยวรรธน์ เข็มจันทร์ ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน กล่าวในที่ประชุมว่า ชาวบ้านร้องเรียนโรงงานมาตั้งแต่ปี 65 จากปัญหาฝุ่นละออง-กลิ่นเหม็น-น้ำเสีย และครั้งนี้น้ำเสียระบายออกมา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 ชาวบ้านร้องเรียนจนจังหวัดประชุม เดือนกันยายนที่ผ่านมา และมีคำสั่งให้สำรวจความเสียหาย แต่กว่าจะลงสำรวจก็เป็นวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา บัญชีสำรวจแรกตกลงกันที่แปลงไปแล้ว แต่วันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมาโรงงานขอปรับลด ทั้งที่ข้อตกลงวันนั้นชาวบ้านยังไม่พอใจทั้งหมด

น.ส.จรรยวรรธน์ฯ ได้นำต้นข้าวมาโชว์ที่ประชุม 2 กอ จากนาข้าวในบัญชีความเสียหาย มาเปรียบเทียบกับภาพของที่ประชุม ระบุว่าในการพิจารณาราคาและความเสียหาย ของคณะกรรมการที่เดินทางลงไปสำรวจรายแปลง ก็มีอัตราที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะภาพของที่ประชุมถ่ายวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา กับต้นข้าวที่ถอนออกมาให้ดูวันนี้ ผ่านมาเพียงไม่กี่วัน ต้นข้าวเสียหายมากกว่าที่คาด ในฐานะตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อน ยืนยันว่าชาวบ้านทั้ง 33 ราย ขอใช้บัญชีสำรวจเดิมไม่ปรับลดลง

ที่ประชุมขอให้ผู้แทนโรงงานแป้งมันสำปะหลัง พิจารณาทบทวนการปรับลด พื้นที่ความเสียหายอีกครั้ง ซึ่งจากการตรวจสอบบัญชีผู้ไม่ยอมรับการปรับลด 33 ราย พบว่ามีการปรับลดพื้นที่ต่ำกว่า 1 ไร่ รวม 23 ราย ซึ่งเงินเยียวยาไม่ใช่เงินมากมาย ไม่น่าจะเกินความสามารถของโรงงาน ซึ่งโรงงานฯยินยอมจะไม่ปรับลดพื้นที่ 23 รายดังกล่าว และพร้อมจ่ายเงินเยียวยา ให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ทันที ซึ่งจะทำให้เหลือประชาชนในบัญชีสำรวจความเสียหายอีก 10 ราย จะได้ไปรายงานให้ฝ่ายบริหารโรงงาน รับทราบเพื่อพิจารณา

นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวสรุปว่า ผู้รับความเสียหายที่ยอมรับการปรับลด อ.วังสามหมอ 4 ราย อ.ศรีธาตุ 13 ราย ประมง 2 ราย และพื้นที่เกษตรกรรมอื่น 5 ราย ให้โรงงานจ่ายเงินเยียวยาตามบัญชี ภายในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2567 , ผู้เสียหายที่ไม่ยอมรับการปรับลด และโรงงานพิจารณาไม่ปรับลด 23 ราย ให้โรงงานฯจ่ายเงินเยียวยาภายในสัปดาห์ต่อไป ส่วนผู้เสียหายที่ไม่ยอมปรับลด และโรงงานยังขอปรับลดอยู่ 10 ราย ให้ทางอำเภอทำการไกล่เกลี่ยอีกครั้ง ที่แปลงพื้นที่ได้รับความเสียหาย หวังว่าจะตกลงกันได้ หากไม่ได้ให้รายงานมา จะประสานไปยังยุติธรรมจังหวัด เพื่อใช้เงินกองทุนว่าจ้างทนายความ ฟ้องร้องเรียนค่าเสียหายจกาโรงงานต่อไป พร้อมสั่งให้สถานีพัฒนาที่ดินอุดรธานี ลงสำรวจเก็บตัวอย่าง ดินทุกแปลง เพื่อแนะนำชาวบ้านให้ปรับปรุงดินก่อนเพาะปลูกฤดูต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า น้ำเสียไหลออกจากโรงงานฯครั้งนี้เกิด 2 ครั้งๆแรก ปลายเดือนพฤษภาคม 2567 เป็นกรณีน้ำเสียลงไปปนกับน้ำดี และไหลออกจากโรงงานไปลงพื้นที่ชาวบ้าน และไหลลงลำห้วยทำให้ปลาตาย ครั้งที่สองปลายเดือนสิงหาคม 2567 ฝนตกหนักทำให้คันดินบ่อน้ำดี และมีน้ำเสียลงไปปะปนพังเสียหาย น้ำดีผสมน้ำเสียไหลลงพื้นที่ชาวบ้าน สนง.อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ดำเนินคดีในเหตุครั้งที่ 2 ขณะที่มีโรงงานแป้งมันสำปะหลังอีกแห่ง ในเขต อ.เมือง อุดรธานี มีน้ำเสียไหลออกจากโรงงาน ช่วงน้ำท่วมใหญ่อุดรธานีปี 2566 ทำให้นาข้าวได้รับความหาย 2 อำเภอ แต่โรงงานปฏิเสธไม่เยียวยาชาวบ้าน ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินคดี…..

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments