ประชุมติดตาม สวล.ฐานเจาะก๊าซสินภูฮ่อม พบสารพัดปัญหาคุยวันนี้ตอบปีหน้า ค่าภาคหลวงไม่เป็นธรรมถูกดอง พบโลหะหนักในน้ำใต้ดินแต่เป็นเรื่องธรรมชาติ พบสารVOCอันตราย2ชนิด ที่ไม่มีใช้ในการเจาะหรือผลิตก๊าซ รอง ผวจ.สั่งประชุมทุก 3-4 เดือน ปตท.สผ.ต้องมาตอบทุกคำถาม
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.อุดรธานี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการติดตามตรวจสอบ โครงการแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี มีนายเสถียร ดวงจำปา พลังงาน จ.อุดรธานี นำคณะกรรมการภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน เข้าร่วมประร่วมกับคณะผู้แทน บ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จก.(มหาชน) โดยมีตัวแทนอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เข้าร่วมประชุมด้วย
บ.ปตท.สผ.จก. รายงานว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อมอยู่ในพื้นที่ จ.อุดรธานี และ จ.ขอนแก่น อปท.ในพื้นที่ ได้รับค่าภาคหลวงมาตั้งแต่ปี 2550 โดยใน จ.อุดรธานี มีทต. และ อบต.รวม 11 แห่ง รับค่าภาคหลวงสะสม 255.568 ล้านบาท (ปี 65 รวม 16.277 ล้านบาท) และ อบจ.อุดรธานี รับไปรวม 1,340 ล้านบาท (ปี 65 รวม 89.525 ล้านบาท) โดยในปี 2565 ได้ขุดเจาะเพิ่ม 1 หลุม บริเวณฐานเจาะภูฮ่อม 4 แต่เกิดความล่าช้าจนกระแสลมเปลี่ยนทิศ ตัดสินใจไม่จุดไฟตรวจสอบแรงดัน (50ล้านบาท) และจะมาเจาะใหม่ในปีนี้ เริ่มขนเครื่องจักรมีนาคมนี้
สำหรับการติดตามมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีประเด็นที่ได้รับความสนใจ คือ ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ พบสารอินทรีย์ระเหยง่าย (วีโอซี.) 2 ชนิด ประกอบด้วย อะครอลีน (สารกำจัดเชื้อรา และศัตรูพืช) ที่วัดป่าบ้านทับไฮ และ ครอโรมีเทน (สารกำจัดสี และสารขับเพื่อพ่นสารกำจัดแมลง) ที่วัดป่าภูสังโฆ เกินกว่ามาตรฐาน ซึ่งกิจกรรมของโครงการฯ ไม่ได้ใช้สารประกอบดังกล่าว
ในการสำรวจน้ำโดยเฉพาะ “น้ำใต้ดิน” พบพารามิเตอร์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นความเป็นกรด และด่าง ตะกั่ว และแมงกานิส ที่มีค่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และอยู่ในเกณฑ์อนุโลมสูงสุด และจากการศึกษาคุณภาพน้ำใต้ดิน ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่าเป็นคุณสมบัติเฉพาะทางเคมีตามธรรมชาติ น้ำใต้ดินในพื้นที่นี้ จึงมีค่าโลหะหนักเกินมาตรฐานได้ และจะมีค่าเปลี่ยนตามฤดูกาล
นายสมัคร บุญปก รองนายก อบจ.อุดรธานี กล่าวว่า แหล่งขุดเจาะก๊าซเกือบทั้งหมด อยู่ในเขตพื้นที่ของ จ.อุดรธานี (จ.ขอนแก่นมีเพียง ภูฮ่อม 5) แต่ค่าภาคหลวง จ.อุดรธานี กลับได้รับน้อยกว่า เรื่องนี้ถามมาทุกครั้งก็ยังไม่มีคำตอบ เพราะกว่าจะประชุมอีกครั้งก็อีก 1 ปี เรื่องนี้ อบจ.ได้ทำเรื่องสอบถาม เป็นไปได้หรือไม่จะคิดค่าภาคหลวง จากปริมาณก๊าซที่เจาะได้หลุมใครหลุมมัน ทราบว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ส่งเรื่องไปให้กระทรวงมหาดไทย ตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบกลับมา จะทวงถามได้หรือไม่อย่างไร
นายนวคม เสมา ตัวแทนสภาเครือข่ายภาคประชาชน จ.อุดรธานี กล่าวว่า ผลกระทบเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงที่หนักที่สุดคือ “การจุดไฟทดสอบปริมาณก๊าซ” แมลงหลายชนิดลดลงจนหายไป หลายปีที่ผ่านมาเมื่อฟังชาวบ้าน แมลงเหล่านั้นเริ่มมาให้เห็นแล้ว ขณะที่การจุดไฟเผาทดสอบที่ “พื้นราบ” เมื่อปี 2562 ประชาชนได้รับผลกระทบรุนแรงมาก จะต้องหามาตรการใหม่ๆมาใช้ ขณะผลกระทบทางอ้อม ถนนที่สร้างขึ้นไปยังหลุมเจาะ กลายเป็นเส้นทางให้ลักลอบตัดไม้ “พะยูง”
นายสายันต์ หมีแก้ว ผอ.ส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สนง.สิ่งแวดล้อม ภาค 9 อุดรธานี กล่าวว่า เรื่องแรกกรณีการพบสาร 2 ชนิด ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม 21 สาร วีโอซี. ถือว่าเป็นอันตราย โครงการฯบอกว่าไม่ใช้สารกลุ่มนี้ เหมือนจะโยนไปให้เกษตรกร แต่ในข้อเท็จจริงเราเจอสารนี้ ในกระบวนการของปิโตรเลียมเช่นกัน ขอคำตอบที่ความชัดเจนมาก และการเผาก๊าซวัดปริมาณ หรือ “แฟร์” ขอเสนอ 2 ทาง คือ การเผาในระบบปิดซึ่ง ปตท.ก็ทำได้อยู่แล้ว และเอาในเวลากลางวัน จะไม่กระทบกับแมลง
นายฐิติณัฎฐ์ มุณีรัตน์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี กล่าวว่า เป็นห่วงของสารที่ใช้ในการเจาะ หรือ “โคลน” อยากให้มีมาตรการป้องกันภาวะฉุกเฉิน ตัวอย่างเตรียมรับมือกับ “ฝนพันปี” หรือไม่ หากตกลงมา 200 มม./วัน ติดกันหลายวัน บ่อที่ใช้เก็บกักจะเพียงพอหรือไม่ เท่าที่ดูจากสภาพไม่น่าพอ เตรียมรถขนออกไปอย่างไร รวมไปถึง “โคลน” ที่ขนไปทำลาย จ.สระบุรี ควบคุมกันอย่างไรให้ไปถึงที่หมายทั้งหมด และปลายทางสามารถทำลายให้เราได้
ขณะที่ผู้แทนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และจาก ปตท.สผ. ชี้แจงบางประเด็นว่า ก๊าซที่นำขึ้นมามีสัญญาส่งให้ โรงไฟฟ้าที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น มีเพียงไม่ถึง 10 % นำมาเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ ส่วนการจัดสรรค่าภาคหลวง เป็นไปตาม พรบ.ขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มหาดไทยเป็นผู้กำกับดูแล , สำหรับการเผาก๊าซในระบบปิด เคยนำมาพิจารณาแต่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ จึงเลือกที่จะยกท่อให้สูงขึ้น ในการแฟร์ครั้งต่อไปจะพิจารณาใหม่ , ด้านแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินมีแผนอยู่แล้ว และที่เหลือจะตอบในครั้งต่อไป
นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ได้สรุปและเสนอต่อที่ประชุม 1.ให้นักวิชาการสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น คือ มรภ.อุดรธานี เข้ามามีส่วนติดตามผลกระทบด้วย ตามข้อเสนอของภาคประชาสังคม , 2. ตามที่มีผู้เสนอของเครือข่าวภาคประชาชน คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2558 ขณะที่สถานการณ์เปลี่ยนไปมากแล้ว จะให้คณะทำงานพิจารณาในเรื่องนี้ , 3. โครงการปลูกป่าทดแทนขอให้มีตัวชี้วัด และทำความเข้าใจประชาชนก่อน และ 4.ที่ผ่านมามีการประชุมปีละครั้ง ต่อไปขอให้มีการประชุม 3-4 เดือน/ครั้ง….