พิษ “ชินลากู” พ่นใส่ฟาร์มไก่ไข่ ซีพี. ที่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ฝนตกหนักทำบ่อบำบัดน้ำเสียแตก ไหลลงไปในอ่างฯ-ห้วยสาธารณะ ปลาลอยตาย น้ำทำประปาไม่ได้ ชาวบ้านยันปีก่อนก็เป็นแต่ไม่หนัก อำเภอสั่งแก้ไขเบื้องต้น 3 ข้อ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 สิงหาคม 2563 ที่ห้องประชุม อบต.สุมเส้า อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี นายพิทักษ์ ศรีทอง ปลัดอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเพ็ญ ได้จัดการประชุมประชาคมแก้ไขปัญหา น้ำเน่าเสียในอ่างเก็บน้ำห้วยวังโตน และลำห้วยวังโตน เกิดจากคันดินบ่อบำบัดน้ำเสีย ของฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ บ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด ทรุดตัวขาดออกน้ำเสียไหลทะลักลงแหล่งน้ำสาธารณะ โดยมีนางทวินตรา ทรงคาศรี นายก อบต.สุมเส้า , นายบุญญา ไชยนาพันธ์ ปลัด อบต.สุมเส้า และผู้นำชุมชนในพื้นที่ พร้อมด้วยตัวแทนจาก บ.ซีพีเอฟ(ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมการประชุมฯ ก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบการแก้ไขหลังการประชุมฯอีกครั้ง
โดยเริ่มจากไปที่ลำห้วยวังโตน บริเวณหลังวัดป่ารวมธรรม ที่เคยมีน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น บริษัทฯแก้ปัญหาด้วยการกั้นลำห้วย สูบน้ำเสียไปรวมกันอยู่ห่างจากวัด 100 ม. ซึ่งเป็นจุดที่ไม่มีชาวบ้านอาศัย จุดที่สองเป็นท้ายอ่างฯจุดที่ปิดกั้นอ่างฯ ไม่ให้น้ำเสียออกจากอ่างฯลงลำห้วย โดยในอ่างฯสภาพน้ำขุ่นเขียว มีตะไคร่น้ำลอยอยู่ผิวน้ำส่งกลิ่นเหม็น จุดที่สาม บริเวณหลังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พบคราบน้ำสีเขียวจากบ่อบำบัดน้ำเสีย ไหลผ่านก่อนไปลงไปที่อ่างฯ
นายพิทักษ์ ศรีทอง ปลัดอำเภอเพ็ญ เปิดเผยว่า กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านร้องเรียนว่าน้ำในห้วยวังโตน และในอ่างฯห้วยวังโตนมีสภาพขุ่นมีกลิ่นเหม็น คาดว่าเกิดจากฟาร์มเลี้ยงไก่ของ บ.ซีพีเอฟ(ประเทศไทย) จำกัด นายณฐพล วิถี นายอำเภอเพ็ญ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบขอเท็จจริงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยวังโตนและตลอดลำห้วย รวมทั้งตรวจสอบในพื้นที่ฟาร์ม มีการเก็บตัวอย่างน้ำไว้ในครั้งนั้นโดยขอความร่วมมือจาก ม.ขอนแก่น
“ จนวันที่ 2 สิงหาคม เวลา 14.00 น. หลังฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุชินลากู ได้รับแจ้งคันดินบ่อบำบัดบัดน้ำเสีย ของฟาร์มไก่ไข่เกิดการทรุดตัว มีน้ำเสียไหลออกจากบ่อ มานอกพื้นที่ผ่านพื้นที่เกษตรชาวบ้าน และไหลลงไปปนเปื้อนในห้วยวังโตนและอ่างฯ และเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาได้ลงตรวจสอบอีกครั้ง บริษัทฯยอมรับว่ามีน้ำเสียไหลออกนอกพื้นที่จริง และได้นำเครื่องจักรขุดดินบริเวณใกล้เคียง ขึ้นมากั้นน้ำเสียเอาไว้ตั้งแต่เกิดเหตุโดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง บ่อมีขนาด 40,000 ลบ.ม. น้ำเสียไหลออกราว 10,000 ลบ.ม. ”
นายพิทักษ์ ศรีทอง ปลัดอำเภอเพ็ญ เปิดเผยอีกว่า ได้สั่งการให้บริษัทแก้ไข 3 ข้อ 1.ให้ทำการเสริมคันดินให้ได้มีมาตรฐาน จากเดิมกว้าง 2 ม. เป็น 4 ม.และต้องบดอัดดินแน่น , 2.ปิดกั้นฝายท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยวังโตน ที่เป็นต้นน้ำของลำห้วยวังโตน ระยะทาง 500 ม. เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเสียไหลไปสร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านใกล้เคียง และ 3.สูบน้ำเสียออกจากจากลำห้วยวังโตน บริเวณจุดหลังวัดป่ารวมธรรมออก ซึ่งได้สั่งการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ จึงเป็นได้เชิญตัวแทนทุกฝ่ายมาร่วมพูดคุยหาทางแก้ไขร่วมกัน
นายเฉลิมพล ก๊อกพิมพ์ ส.อบต.สุมเส้า เปิดเผยว่า บ้านพักอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยวังโตน พื้นที่เดียวกับฟาร์มไก่และอ่างฯ เดิมฟาร์มไก่เป็นของนายทุนรายอื่น ซีพี.เข้ามาซื้อกิจการและดำเนินการได้ 3 ปี ก่อนหน้าไม่เคยมีปัญหาน้ำเน่าเสีย พึ่งจะมีปัญหาช่วงปีที่แล้ว และเกิดปัญหาหนักในปีนี้ สัตว์น้ำในอ่างและลำห้วยตายหมด น้ำขุ่นเน่าเหม็นเป็นสีดำมีฟอง ชาวบ้านจับสัตว์น้ำไม่ได้ 2 ปีแล้ว รวมถึงชาวบ้านท้ายลำห้วย ม.10 ม.12 ที่เคยใช้นำผลิตน้ำประปาก็นำมาใช้ไม่ได้ แต่ทางฟาร์มได้ขุดเจาะน้ำบาดาลทดแทนให้เมื่อปีที่แล้ว ยอมรับว่าเดือดร้อนจริงแต่ก็อยากให้ฟาร์มและชาวบ้านอยู่ร่วมกันให้ได้ เพราะฟาร์มเองก็คอยช่วยเหลือชาวบ้านอยู่ตลอด ลูกหลานก็ได้ทำงานกันที่นี่ แต่ก็ต้องแก้ไขให้ยั่งยืนไม่ส่งผลต่ออนาคตข้างหน้า
นางทวินตรา ทรงคาศรี นายก อบต.สุมเส้า เปิดเผยว่า มติวันนี้จะดำเนินการแก้ไขในช่วงฝนนี้ให้เสร็จก่อนน้ำแล้ง โดยใช้เครื่องจักรของ อบต. , ของเอกชน และของชาวบ้านในพื้นที่ ให้ฟาร์มช่วยค่าน้ำมันค่าแรง ฟาร์มอยู่ได้ชาวบ้านก็ต้องอยู่ได้ กั้นลำห้วยเอาไว้เป็นช่วงสูบน้ำเสียออกครั้งละ 60 เปอร์เซ็นต์ ให้น้ำฝนหรือจากแหล่งน้ำอื่นช่วยเจือจาง ส่วนเรื่องผิวดินเรื่องตะกอนจากการสำรวจพบว่ามีการตกค้างพอสมควร หน้าแล้งจะต้องขุดลอกตากดินหรือแก้ไขตามวิชาการอื่นๆ ก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับฟาร์มโยนก้อนจุลินทรีย์บอลปรับปรุงคุณภาพน้ำมาแล้ว ตรงนี้ฟาร์มต้องเข้ามาดูแลอีกครั้งในระยะต่อไป น้ำในฟาร์มจะเป็นน้ำดีหรือน้ำเสียก็ต้องแก้ไขไม่ให้ไหลลงลำห้วยอีก