เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.) อุดรธานี แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำสัปดาห์ว่า ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นคงตัวในระดับสูง เป็นผู้ป่วยรักษาตัวใน รพ. (RC-PCR) วันละ 400-500 ราย เหลือยังนอนรักษาตัวใน รพ. 852 ราย ส่วนหนึ่งราว 37 % เป็นผู้ป่วยมีประกัน ส่วนผู้ติดเชื้อรักษาตัวที่บ้าน(ATK) เฉลี่ยวันละ 2,500 ราย เหลือยังรักษาตัว 27,103 ราย เป็นลักษณะจำนวนผู้ป่วยเพิ่ม มากกว่าจำนวนผู้รักษาหาย
“ ผู้ป่วยปานกลางและรุนแรงมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ , กลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็ก แยกเป็นผู้ป่วยหนัก 35 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 20 ราย ใช้เครื่องออกซิเจนไฮโฟล 15 ราย ใช้ห้อง ไอซียู.ไปแล้ว 29 ห้อง เหลือ 13 ห้อง ส่วนผู้ป่วยมีเหลืองใช้เตียง 824 เตียง เหลือ 427 เตียง รวมทั้งผู้เสียชีวิตรอบ 7 วันรวม 13 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย ทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มโรคเสี่ยง ไม่ได้ฉีดวัคซีน และฉีดวัคซีนไม่ครบ และเข็มสุดท้ายนานกว่า 3 เดือน หากคำนวณจากผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 1 ม.ค.65 รวม 78 ราย หรือเท่ากับ 0.41 % สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย ”
นายอุเทน หาแก้ว รอง สสจ.อุดรธานี กล่าวว่า อุดรธานีฉีดวัคซีนภาพรวม 72.6 % แต่มีเพียง อ.เมือง และ อ.ศรีธาตุ ฉีดวัคซีนเกิน 70 % สำหรับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้น ฉีดไปได้เพียง 22.8 % เท่านั้น จึงมีแผนเชิงรุกลงไประดับหมู่บ้าน ฉีดวัคซีนเข็ม 1-2-3 ให้กับผู้สูงอายุ , กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ผ่านมาฉีดได้ราววันละ 7,000 ราย ซึ่งการฉีดเชิงรุกมีเป้าหมาย 8 เม.ย.นี้ เพื่ออีก 5 วันจะได้ร่างกายจะได้สร้างภูมิฯ จากนั้นจะฉีดที่ศูนย์ฉีดวัคซีนอำเภอ ในวันเวลาราชการต่อไปไม่หยุด
“ คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.อุดรธานี ยังคงมาตรการเดิมในช่วงนี้ และปรับวิธีปฏิบัติบางเรื่อง คือ 1.ร้านอาหารยังคงเปิดบริการไม่เกิน 24.00 น.ห้ามจำหน่ายเหล้า-เบียร์ ยกเว้น อ.เมือง สามารถดื่มเหลบ่า-เบียร์ได้ไม่เกิน 21.00 น. แต่ร้านนั้นจะต้องผ่านการประเมินชาร์พลัส , 2.การจัดกิจกรรมงานบวช งานบุญ งานประเพณี ที่มีคนจำนวนมาก ต้องขออนุญาตจากนายอำเภอ เพื่อตรวจสอบเรื่องมาตรการ , 3.ผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ลดการกักตัว 7 วันเหลือ 5 วัน ตรวจ ATK 2 ครั้ง วันแรกและวันที่ห้า และ 4.ให้ปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคลเคร่งครัด ”
รอง สสจ.อุดรธานี กล่าวอีกว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้กำหนดแผนลงพื้นที่ทุกหมู่บ้าน รณรงค์มาตรการลดอุบัติเหตุ และป้องกันโควิด-19 ควบคู่กันไป มีการคาดการณ์ว่าหากทำเต็มที่ จะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้ง RC-PCR และ ATK ราว 3,000-5,000 คน แต่หากไม่ดำเนินการอาจจะสูงถึง 10,000 คน ส่วนการเตรียมรับมือผู้ป่วย กำลังบริหารจัดการเตียงผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยมีประกัน , ผู้ป่วยสีเหลืออ่อน และผู้ป่วยสีเขียว หากทำได้ตามเป้าผู้ป่วยไม่สูง อุดรธานีจะสามารถประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นก่อนกำหนด 1 เดือน ….