อุดรฯเตรียมรับพายุ “ไลออนส์ร็อค” หลังนักวิชาการ “ทีมกรุ๊ฟ” เตือนก่อตัวนานรุนแรง ผู้ว่าฯยืนยันคน-เครื่องมือพร้อม ตั้งเวรยาม 24 ชม. เชื่อผลดีเติมน้ำในอ่างฯ ที่เก็บน้ำอยู่เพียง 50 %
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม 2564 นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี พร้อมนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย(อีสาน) นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว รองผู้ว่าฯ , นายสามารถ สุวรรณมณี อำเภอเมือง , นายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ ปภ.อุดรธานี , นายเฉลิมชัย ม่วงแพรไหม ผอ.ชลประทานอุดรธานี และคณะ ดูความพร้อมประตูระบายน้ำสามพร้าว ที่ปิดกั้นลำน้ำห้วยหลวง รองรับน้ำจากตัวเมืองอุดรธานี ก่อนไหลไปลงน้ำโขงที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ระยะทาง 150 กม. หลังมีนักวิชาการจาก “ทีมกรุ๊ฟ” ระบุเส้นทางพายุไลออนส์ร็อค จะทำให้ฝนตกหนักที่อุดรธานีและใกล้เคียง
“ประตูระบายน้ำสามพร้าว” บริเวณลำน้ำห้วยหลวง บ.สามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมืองอุดรธานี เดิมมีเพียงฝายน้ำล้นสร้างขวางลำน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ผลิตประปา แต่จากน้ำท่วมใหญ่เมืองอุดรธานี ปี 43 , 44 กรมชลประทานได้สร้างประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้น มีประสิทธิภาพการระบายน้ำ 200 ลบม.ต่อวินาที แต่ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่สูงกว่า ทำให้ต้องใช้การบริหารจัดการต้นน้ำ เคยเกิดเหตุพายุฝนตกหนักต่อเนื่อง เกิดน้ำล้นตลิ่งลำห้วยหลวง เหนือประตูระบายน้ำขึ้นไป ดันน้ำไหลย้อนเข้าพื้นที่เศรษฐกิจ และชุมชนมาแล้ว
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า วานนี้รับข่าวสารของนักวิชาการอิสระ ว่าจะมีฝนตกหนักในช่วง 11-12 ต.ค.นี้ ท่านรองนิติพัฒน์ฯกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตรวจความพร้อม เพื่อดูแลพี่น้องประชาชน วันนี้ก็เดินทางมาลงพื้นที่ “ประตูระบายน้ำสามพร้าว” ซึ่งเป็นประตูน้ำหลักที่ลำน้ำห้วยหลวง ในการระบายน้ำจากชั้นในของเมืองและโดยรอบ ลงไปสู่แม่น้ำโขงที่ประตูระบายน้ำ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ซึ่งตอนนี้ระดับน้ำในแม่โขง ต่ำกว่าน้ำในประตู 7 เมตร ถ้าเปิดประตูน้ำก็จะไหลออกไปหมด ต้องเลี้ยงน้ำไว้รับฤดูแล้งด้วย
“ ที่นี่มีทั้งเป็นฝายกั้นน้ำ และประตูระบายน้ำสามพร้าว ในอดีตเคยเกิดปัญหาติดขัด ทำให้การระบายน้ำมีอุปสรรค มาดูก็พบว่ามั่นคงแข้งแรงดี ใช้งานได้มีประสิทธิภาพ โดยจะเลี้ยงน้ำให้อยู่ในระดับ ต่ำกว่าฝายกั้นน้ำ 50 ซม. คิดว่าเพียงพอกับการรับน้ำฝน 1-2 วัน ขณะที่อ่างเก็บน้ำด้านบน อาทิ อ่างฯบ้านจั่น ก็พร่องน้ำออกวันละ 220,000 ลบม. ให้มีพื้นที่รอรับน้ำเกิดขึ้นฉับพลัน พร้อมกับเตรียมเครื่องจักร ไว้คอยจัดการปัญหาฉุกเฉิน ที่อาจจะขึ้นได้ในบางพื้นที่ ให้ทุกหน่วยเฝ้า 24 ชม. ”
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ต้นฤดูฝนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ได้จัดเตรียมทางรับมืออยู่แล้ว แต่ปริมาณในตกลงมาได้มากนัก อ่างฯโดยรอบ ส่วนใหญ่ ยังเก็บน้ำได้ไม่ถึงครึ่ง หากฝนตกลงมาในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเป็นช่วงปลายฤดูฝนแล้ว ก็จะได้น้ำมาเติมในแหล่งน้ำ เพื่อดูแลพี่น้องชาวอุดรธานี ในเรื่องของน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร
นายเฉลิมชัย ม่วงแพรไหม ผอ.ชลประทานอุดรธานี กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำหลักของอุดรธานียังมีน้ำน้อย อาทิ อ่างฯห้วยหลวง มีน้ำเพียง 49.55 % , อ่างฯกุดลิงง้อ 35.02 % ส่วนอ่างฯที่มีน้ำมาก อาทิ อ่างฯบ้านจั่น 85.52 % ก็เปิดบ่านพร่องน้ำออกบ้าง หรืออ่างฯหนองสำโรง 94.01 % หากฝนตกหนักน้ำในเมืองมาก ก็พร้อมเปิดบานระบายออก และที่ประตูน้ำบ้านสามพร้าว ก็พร่องน้ำเพื่อรับฝนเช่นกัน หากมีฝนตกหนักสามารถระบายน้ำได้ 200 ลบม./วินาที โดยเตรียมเครื่องปั่นไฟฟ้ามาไว้ หากไฟฟ้าดับยังเปิดปิดประตูได้ และเตรียมเครื่องผลักดันน้ำพร้อมติดตั้งหากจำเป็น …..