ณ ศาลาพิธีทุ่งศรีเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ร่วมกับเทศบาลนครอุดรธานี ได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย พระราชประวัติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวมถึงพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ และการเสด็จพระราชดำเนินในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี
ในส่วนพระราชกรณียกิจ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ดำเนินตามรอยพระยุคคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระบรมชนกนาถที่ให้ความสำคัญของ “น้ำ” เริ่มต้นจากการพัฒนาแหล่งน้ำ มาตั้งแต่ปี 2535 มาจนถึงปัจจุบัน จำนวน 61 โครงการ ใน 12 จังหวัด พร้อมแสดงรายละเอียดของ อ่างเก็บน้ำอันเนื่องจากพระราชดำริ 2 แห่ง ในพื้นที่ จ.อุดรธานี ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลำพันชาดน้อย อ.วังสามหมอ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และอ่างเก็บน้ำซำตมขาว อ.โนนสะอาด ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร
“อ่างเก็บน้ำลำพันชาดน้อย” ระหว่างสมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ 9 เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2545 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เยี่ยมราษฎรบ้านวังทอง ม.9 ต.ผาสุก อ.วังสามหมอ ซึ่งเป็นหมู่บ้านมีสภาพทุรกันดาร ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ และรับจ้าง
พระองค์ได้เสด็จไปทอดพระเนตร พื้นที่จะก่อสร้างอ่างฯลำพันชาดน้อย ตามที่กรมชลประทานศึกษา และมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนตามความเหมาะสม ทั้งเรื่องแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โครงการนี้ได้ถูกบรรจุเมื่อ 1 ตุลาคม 2547 เริ่มก่อสร้างปี 2548 และแล้วเสร็จปี 2550 โดย สนง. คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สนับสนุนงบประมาณ เตรียมงานเบื้องต้น และการก่อสร้างอาคารระบายน้ำล้น
“อ่างเก็บน้ำลำพันชาดน้อย” สันอ่างฯสร้างเป็นทำนบดินกว้าง 8 เมตร ยาว 430 เมตร สูงประมาณ 26.5 เมตร และอาคารระบายน้ำล้นกว้าง 10-25 ยาว 247 เมตร ได้ความจุ 2,600,000 ลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกร 1,200 ไร่ ทำให้ราษฎรบ้านวังทอง 192 ครัวเรือน 1,099 คน มีน้ำใช้สำหรับการเกษตร อุปโภคบริโภค และเลี้ยงสัตว์ได้ตลอดปี ทำให้ราษฎรมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
“อ่างเก็บน้ำซำตมขาว” เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งแรกของจังหวัดอุดรธานี หลังชาวบ้านถวายฎีกา ขอพระราชทานความช่วยเหลือ กระทั่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเข้าโครงการฯเมื่อ 27 มีนาคม 2560 ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยหมากหล่ำ ม.6 ต.ทมนางาม อ.โนนสะอาด ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งขาติป่าทม-ป่าข่า เป็นการก่อสร้างอ่างฯ พร้อมระบบส่งน้ำด้วยท่อ ความจุ 204,100 ลบ.ม. สันอ่างฯเป็นทำนบดินกั้นร่องน้ำ กว้าง 6 เมตร.สูง 15 เมตร ยาว 186.70 เมตร ท่อส่งน้ำยาว 2,250 เมตร ราษฎรได้รับประโยชน์ 70 ครัวเรือน
นางอรุณ รวมไทสง อายุ 53 ปี ชาวบ้านห้วยหมากหล่ำ เล่าว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าสงวนฯ ชาวบ้านเข้ามาอาศัยกว่า 50 ปี ตนเข้ามาอาศัยอยู่ 33 ปีแล้ว แรกๆเป็นกระท่อมไว้อาศัยนอน เพื่อมาหาของป่า เลี้ยงสัตว์ และรับจ้าง ไม่มีที่ดินทำนา ทำไร่ ทำสวน มาอยู่กันมากขึ้นจนตั้งหมู่บ้าน ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่มีแหล่งน้ำใต้ดิน มีเพียงน้ำซับจากภูเขา หน้าแล้งต้องใช้น้ำจากสระ ทำให้ชาวบ้านต้องไปขายแรงงาน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะได้กลับมาบ้านก็ปีใหม่ หรือสงกรานต์ บางปีไม่ได้กลับเลย
“ ชาวบ้านต่างดีใจ-ปลื้มใจ-ตื้นตันใจ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ห่วงใยชาวบ้านไกลความเจริญ มาสร้างอ่างเก็บน้ำให้พวกเรา ไม่คิดเลยว่าจะมีโครงการนี้ และยังจัดที่ทำกินอีกครอบครัวละ 70 ตรว. จะส่งเสริมปลูกผักปลอดสารพิษ ความเป็นอยู่ชาวบ้านคงจะดีขึ้นเรื่อยๆ โดยอ่างฯสร้างเสร็จราว 4-5 เดือนก่อน น้ำในอ่างฯยังมีไม่มาก ยังไม่ปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร คงต้องรอฝนตกให้เต็มก่อน แต่จะปล่อยให้เพื่ออุปโภคก่อน ซึ่งชาวบ้านได้ใช้น้ำเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงรอดตายแล้ว ”
นายเภา ยาท้าว ผญบ.บ้านห้วยหมากล่ำ เล่าว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มาจากต่างถิ่น เมื่อสัมปทานไม้หมดบางส่วนยังอยู่ ทำงานรับจ้าง ทำไร่เลื่อนลอย เลี้ยงสัตว์ในป่า ในที่สุดก็อพยพไปทำงานต่างถิ่น ส่งเงินกลับมาช่วยทางบ้าน จนเมื่อ 5-6 ปีก่อนเกิดภัยแล้งรุนแรง น้ำทุกหยดต้องใช้เงินซื้อ วัวควาย สัตว์เลี้ยงล้มตาย พอดีรัฐบาล “นายกตู่” มีโครงการตำบลละ 1 ล้าน ชาวบ้านห้วยหมากหล่ำได้คุยกัน จะขอเงินทั้งหมดมาสร้างแหล่งน้ำบนภูเขา ในจุดที่เรียกว่า “ซำตมขาว” (ซำ=พื้นที่มีน้ำซับ , ตมขาว=มีโคลนสีขาว) ให้เป็นแหล่งน้ำของตำบล
ผญบ.บ้านห้วยหมากล่ำ เล่าอีกว่า ทั้งที่รู้ว่าบ้านอื่นเขาจะไม่ให้ แต่ก็ได้บอกว่าบ้านนี้แล้งจริงๆ ในที่ประชุมมีทางราชการมารับฟัง รวมทั้ง มทบ.24 ได้แนะนำวิธีถวายฎีกา ก็มีพ่อใหญ่ชาย ช่วยนา ผู้ทรงคุณวุฒิบ้าน เป็นตัวแทนให้ทาง อบต.ทำหนังสือ ว่าต้องการอ่างเก็บน้ำ เพื่อเกิดความชุ่มชื้นให้กับป่า สัตว์ป่าได้กินน้ำ ชาวบ้านและสัตว์เลี้ยงก็ได้กินน้ำ ผ่านไป 1 เดือน ท่านองคมนตรีลงพื้นที่ด้วยตนเอง ไม่นานก็มีหนังสือจากสำนักราชเลขาฯ ตอบรับว่าได้พระราชทานอ่างเก็บน้ำซำตมขาว ไว้ในโครงการพระราชดำริแล้ว
“ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างมาก จึงเอาหนังสือไปอ่านตอนประชุมชาวบ้าน ทุกคนต่างดีใจจนน้ำตาไหล เมื่อเห็นว่าพระองค์รักเรา ที่เป็นประชาชนของท่าน ถึงแม้ว่าชีวิตนี้ยังไม่เคยเห็นพระองค์จริง แต่ว่าถ้ากล่าวถึงในหลวงทุกพระองค์ มันคล้ายกับว่าหัวใจมันเต็มแล้วในความรักพระองค์ ไม่รู้ว่ารักอย่างไร แต่รู้ว่าในหัวใจรักมาก จนล้นออกมาเป็นน้ำตา คิดกันว่าบ้านเราจะได้เป็นหมู่บ้านต่อ ถึงเราจะมีเพียงที่ซุกหัวนอน ผืนดินถ้าเราใส่ปุ๋ยก็คงจะปลูกพืชกินได้ ถ้ามีอยู่มีกินได้ก็คงจะต่อยอดทำอย่างอื่นได้ ”
นายอภิชาต ชุมนุมมณี ผอ.โครงการชลประทานอุดรธานี เปิดเผยว่า โครงการอ่างฯลำพันชาดน้อย เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เคยเสด็จไปทรงงานครั้งพระอัสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร นอกจากส่งน้ำเพื่อการเกษตร ด้วยการโรยน้ำลงไปตามลำห้วย เพื่อให้เกษตรกรสูบไปใช้ ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ส่งน้ำดิบตามท่อไปผลิตประปา ทดแทนระบบประปาภูเขา ที่น้ำไม่เพียงพอ รวมทั้งมีแผนระบบส่งน้ำ และยกระดับการเกษตรด้วย
“ ส่วนอ่างเก็บน้ำซำตมขาว ถือเป็นอ่างฯโครงการพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 10 แห่งแรกของอุดรธานี หรือระดับต้นๆของประเทศ หลังสร้างเสร็จมีฝนตกลงมาน้อย เก็บกักน้ำได้เพียง 25 เปอร์เซ็นต์ จึงส่งน้ำเพื่อการอุปโภคไปก่อน ปีหน้าจะสามารถเก็บน้ำได้เต็ม ระหว่างนี้จังหวัดอุดรธานีได้บูรนาการ จัดหาที่ดินเพื่อเพาะปลูกครัวเรือนละ 70 ตรว. , การปล่อยพันธุ์ปลาในอ่างฯ , ถ่ายทอดความรู้การปลูกผักปลอดสาร , การถ่ายทอดกิจกรรมอ่างฯให้สมบูรณ์ และการเปิดโรงเรียน ตชด.เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ”