“ท่าเรือบก” กำลังเป็นประเด็นใหญ่ ของพื้นที่ภาคอีสาน นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี เมื่อทุกจังหวัดเสนอตัวเองขอมี โดย สนข.เสนอผลการศึกษาชี้เป้าไปที่ โคราช-ขอนแก่น ขณะอุดรธานียังไม่ยอมยกธงขาว ยกมติ ครม.เพชรบูรณ์ เปิดทางเอกชนลงทุน อุดรธานียกมีที่ดินพร้อม-ติดทางรถไฟ-ใกล้ถนนมิตรภาพ และสนามบินนานาชาติ มั่นใจเกิดขึ้นทันทีหลังถูกมองข้าม
หลังฉลองปีใหม่ 2562 ไม่กี่วัน (3 มกราคม 2562) ที่ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุม คณะทำงานศึกษาและกำหนดแนวทางในการจัดทำข้อเสนอเพื่อสนับสนุนโครงการศูนย์กระจายสินค้าและท่าเรือบก (Inland Container Depot) จ.อุดรธานี ครั้งแรกเพื่อขับเคลื่อนให้เกิด “ท่าเรือบก” (Dry Port) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ต.โนนสูง อ.เมือง มีคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ผวจ.อุดรธานี ทั้งภาครัฐ องค์กรเอกชน นักวิชาการ และตัวแทน บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จก.ผู้ลงทุนนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เข้าร่วมประชุม
นางอรพิณ พิพัฒน์วิไลกุล ผู้บริหาร บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี พร้อมคณะ ชี้แจงว่า การปรับพื้นที่ สร้างสิ่งสาธารณูปโภค ของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตลอดจนขั้นตอนต่างๆ พร้อมประกาศขายพื้นที่เฟสแรกต้นปีนี้ ส่วนแผนงาน “ท่าเรือบก” จะเริ่มลงทุนในส่วนคอนเทเนอร์ยาร์ด (CY) รองรับการพัฒนาให้เป็นสถานีบรรจุแยกสินค้า (ICD) พื้นที่รวมมากกว่า 594 ไร่ ซึ่งยังรอความชัดเจนภาครัฐ ระหว่างนี้บริษัทฯได้ปรับพื้นที่ เตรียมก่อสร้างสร้างคลังสินค้า (warehouse) พื้นที่ 120 ไร่ไปก่อน
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ชี้แจงต่อว่า “ท่าเรือบกอุดรธานี” ได้รับการสนับสนุนจาก กรอ.จังหวัด-ภาค และทำให้ ครม.สัญจรที่ จ.เพชรบูรณ์ มีความเห็นว่าไม่ปิดกั้นจังหวัดใด แต่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนเอง ขณะที่ สนง.นโยบายและแผนขนส่งการจราจร(สนข.) จ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมของ จ.ขอนแก่น , นครราชสีมา , ฉะเชิงเทรา และเชียงราย ไปแล้ว และเตรียมเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งและบริการของประเทศ (กบส.) พิจารณา ก่อนเห็นชอบจาก ครม. จึงต้องชี้แจงความพร้อมของอุดรธานี ต่อ สนข.โดยเร็ว
ที่ประชุมได้ร่วมระดมความคิดเห็นว่า “ท่าเรือบกอุดรธานี” มีองค์ประกอบ เงื่อนไข หลักเกณฑ์ ความเหมาะสมสูง ไม่ว่าจะเป็นที่ดินมีความพร้อมแล้ว สามารถดำเนินการได้ทันที , มีพื้นที่ติดกับทางรถไฟกรุงเทพ-อุดรธานี , ห่างจากถนนมิตรภาพอุดรธานี-ขอนแก่น 2 กม. , ห่างจากสนามบินนานาชาติ 13 กม. , ไม่ห่างจากเมืองหลัก , อยู่ห่างจากท่าเรือกว่า 500 กม. ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าขนส่งสินค้า จากปกติค่าขนส่งด้วยรถบรรทุก 2.80 บาท/ตัน/กม. มาเป็นระบบราง 1.17 บาท/ตัน/กม. สมควรเสนอพื้นที่อุดรธานีให้ สนข.และ กบส.พิจารณาเพิ่มเติม
นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี สรุปแผนการทำงานว่า 1.ให้ทำรายงานไปยัง สนข. ถึงมติ ครม.ที่ไม่ขัดข้องให้จังหวัดอื่นเสนอตัว “ท่าเรือบกอุดรธานี” พร้อมแจ้งศักยภาพเร็วที่สุด ภายในเดือนมกราคมนี้ และต่อเนื่องเมื่อมีความคืบหน้า 2.เชิญ สนข. และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ในประเด็นจุดเด่นที่ยังขาดความสนใจ , 3. เร่งรัดหน่วยงานรับผิดชอบ ความคืบหน้าของมติ ครม.ไปถึงไหน และ 3.จัดเสวนาครั้งสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย สนข. , นักวิชาการท้องถิ่น , ผู้ประกอบการใช้บริการในพื้นที่ และชิปปิ้งที่บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้า โดยเสนอแผนเข้า กรอ.อุดรธานี ในวันที่ 10 มกราคมนี้
ทั้งนี้แผนการศึกษาของ สนข. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2560 ระยะเวลา 8 เดือน วงเงิน 7 ล้านบาท จะเริ่มโครงการ ปี 2567 โดยกำหนดค่าใช้จ่าย 7 ส่วน คือ ชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง , ปรับพื้นที่ , ค่าออกแบบ , ค่าก่อสร้าง , ค่าอุปกรณ์ , ค่าใช้จ่ายมาตรการสิ่งแวดล้อม และค่าควบคุมงานก่อสร้าง วงเงินนครราชสีมา 7,740 ล้านบาท ขอนแก่น 7,530 ล้านบาท ซึ่งค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 40-45 เปอร์เซ็นต์….