วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมบัญชีครัวเรือนสร้างความสุข”U2T”ม.รภ.อุดรฯกระตุ้นเรียนรู้ส่งต่อชาวบ้านในพื้นที่

บัญชีครัวเรือนสร้างความสุข”U2T”ม.รภ.อุดรฯกระตุ้นเรียนรู้ส่งต่อชาวบ้านในพื้นที่

การประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ ล้วนมีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาประกอบกัน สิ่งหนึ่งที่หลายกิจการไม่ประสบความสำเร็จคือการจัดการบัญชี ซึ่งสำคัญไม่แพ้ด้านอื่นๆในการบริหารจัดการ จากภาพใหญ่หากปรับมุมมองให้เล็กลงก็จะเห็นว่าหลายครัวเรือนในประเทศไทยมองความสำคัญจุดนี้ “บัญชีครัวเรือน” ถูกส่งต่อข้อมูลผ่านหลากหลายสื่อ แต่ยังไม่สามารถที่จะกระตุ้นให้เกิดการเข้าใจและเข้าถึง โดยที่ ต.หนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี มีสวนผสมเศรษฐกิจพอเพียงได้นำหลักการนี้ไปใช้จนเกิดการจัดการที่เป็นระบบ พร้อมส่งต่อความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ดร.เอกราช ดีนาง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.รภ.อุดรธานี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) หรือ U2T ที่บ้านเลขที่ 2 ม.11 ต.หนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ไปพบกับ นายศุภชัย นางมลิวรรณ เพียสามารถ สองสามีภรรยา เจ้าของพื้นที่สวนผสมเศรษฐกิจพอเพียง ตามโครงการพระราชดำริฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ ต.หนองอ้อ ได้เลือกใช้เป็นสถานที่ดำเนินงานตามโครงการ U2T โดยมีคณะอาจารย์ ทีมเจ้าหน้าที่ U2T ต.หนองอ้อ และนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ ประชาชน ของโครงการฯ ร่วมให้ข้อมูลและแนะนำพื้นที่

ดร.เอกราช ดีนาง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.รภ.อุดรธานี เปิดเผยว่า การบันทึกบัญชีครัวเรือนนอกจากจะเป็นการทราบรายจ่ายหรือรายได้ของครัวเรือนแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จะทำให้ทราบว่าครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ต้องจ่ายอะไรบ้าง เมื่อเราทราบค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นที่ต้องจ่ายแล้ว U2T ก็จะเข้าเสริมหนุนกิจกรรมเหล่านั้นเช่นการปลูกอยู่ปลุกกินเพื่อลดการพึ่งพาการซื้ออาหารจากภายนอกครัวเรือนหรือภายนอกตำบล จากผลการดำเนินงานในพื้นที่ ต.หนองอ้อ ก็จะได้ขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ผ่านองค์ความรู้ในเครือข่าย U2T ที่เรารับผิดชอบ 4 จังหวัด อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ จำนวน 135 ตำบล

นางมลิวรรณ เพียสามารถ ให้ข้อมูลอย่างอารมณ์ดีว่า มีพื้นที่สวนไร่นาทั้งหมด 24 ไร่ แบ่งปลูกข้าว ทำพืชผักสวนครัว ผลไม้ และเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับเกษตรกรที่ต้องการเข้ามาศึกษาดูงาน โดยใช้หลักการเกษตรพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 น้อมนำมาใช้ในพื้นที่ และยังต้องอาศัยองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านท่านอื่นๆ นำมาปรับปรุงปรับใช้ให้เหมาะกับพื้นที่ จนกระทั่งเกิดผลสำเร็จ กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ประจำพื้นที่อีกแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่หยุดเรียนรู้ ที่ไหนมีการอบรม พื้นที่ไหนมีแนวคิดที่ดีก็จะพยายามไปศึกษาและนำมาใช้กับพื้นที่ตัวเอง

“ต่อมาคณะ U2T ประสานเข้ามาจึงไม่ลังเลและตอบรับให้ใช้พื้นที่ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งในครัวเรือนและต่อลูกๆนักศึกษา ในเรื่องของบัญชีครัวเรือนเราเริ่มศึกษาเรียนรู้มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร พอโครงการของ อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เข้ามาให้คำแนะนำก็มีการจัดการที่ดีขึ้น สมัยก่อนก็จดเป็นรายวันแค่รายรับรายจ่าย แต่ไม่ได้มีหลักการหรือความละเอียดเหมือนที่ทีม U2T เข้ามาให้ความรู้”

นางมลิวรรณ ฯ เล่าให้ฟังอีกว่า ลูกๆทีมงานจะคอยติดตามอยู่ตลอด คอยเตือนว่าต้องจดอะไรบ้าง เตือนให้อย่าลืมบันทึกข้อมูล ทำให้รู้รายรับรายจ่ายละเอียดขึ้น ทำให้รู้ว่าจะต้องเพิ่มหรือลดรายจ่ายตรงไหน ควรจะใช้อะไรมากอะไรน้อย จนเกิดเป็นนิสัย เป็นผลดีต่อครอบครัว อยากให้มีโครงการ U2T ต่อไป เพราะต้องการความรู้อะไรใหม่อยู่แล้ว และเด็กในโครงการจะได้มีรายได้ต่อไป ซึ่งพร้อมส่งต่อองค์ความรู้ให้กับคนพื้นที่ต่อไป สร้างความยั่งยืนให้กับสังคมชนบทแบบบ้านเราให้มีรายได้มีความสุข

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments