แผน “ภูพระบาท” เป็นมรดกโลกรอบสอง เน้นแก้ข้อทักท้วงไร้ความโดดเด่น เปิดร่างสุดเจ๋ง เพิงผาหินสมบูรณ์-คนโบราณอาศัย-จัดพิธีกรรมในธรรมชาติ-ไม่เคยพบที่อื่นมาก่อน แต่ยังมีปัญหาวัดรุกป่า ต้องช่วยกันทำความเข้าใจ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 3 กันยายน 2564 ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายวรเวท รุ่งรุจี ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการนำเสนอแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) เป็นประธานประชุมคณะทำงานฯ มีนายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ จ.อุดรธานี โดยมีคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ ร่วมประชุมผ่านโปรแกรมซูมจากส่วนกลาง
นายวรเวท รุ่งรุจี ประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้ขึ้นทะเบียน เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2535 หรือมากเกือบ 30 ปี อุทยานประวัติศาตร์ภูพระบาท ขอขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก มีคณะกรรมการฯมาตรวจพื้นที่ เมื่อปี 2558 มีข้อทักท้วงอยู่ในประเด็น มีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล , เป็นตัวอย่างโดดเด่นการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ , เป็นของแท้ดั้งเดิมครบสมบูรณ์ และการปกป้องคุ้มครอง เราจึงขอถอนเรื่องกลับมา ศึกษาจัดทำเอกสารเพิ่มเติม โดยมอบหมายให้สมาคม “อีโคโมสไทย” เป็นผู้จัดทำเอกสาร (อังกฤษ-ไทย)
นายวรเวท รุ่งรุจี ประธานฯ แจ้งต่อที่ประชุมถึงการเตรียม การจัดทำรายงานเสนอต่อ “คณะกรรมการมรดกโลก” ระบุว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขือน้ำ-ป่านายูงน้ำโสม ขณะนี้อยู่ในขั้นอุทยานแห่งชาติเตรียมการ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดของเขตภูพระบาท 3,430 ไร่ แต่การกำหนดให้เป็นแหล่งมรดกโลก จะกำหนดจากสภาพข้อเท็จจริง ที่ปรากฏในลักษณะเป็นแหล่งวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ โบราณคดี และยังหลงเหลือเป็นหลักฐานให้ศึกษา
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีความพิเศษแตกต่างจากแหล่งอื่น นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยังมีความสวยงามของธรณีวิทยา โขดหิน เพิงหินทราย รูปร่างสวยงามแปลกตา ความอุดมสมบูรณ์ทรัพยากรป่าไม้ ที่ยังคงมีได้เห็นในปัจจุบัน มีสภาพเกิดกิจกรรมต่อเนื่อง ตั้งแต่หลักฐานภาพเขียนสี ยุคก่อนประวัติศาสตร์ รูปคน สัตว์ และทรงเลขาคณิต ที่ไม่รู้เจตนาผู้คนในยุคนั้น กระจัดกระจายตามเพิงผาหิน เป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่
ยังพบหลักฐานเพิ่มผาหินรูปร่างแปลกตา มีการนำใบเสมาหินช่วงศตวรรษที่ 13-14 มาปักล้อมเป็นวงรอบ 8 ทิศ คือหลักฐานความเชื่อพระพุทธศาสนา ที่ค้นพบบนภูพระบาทแล้ว 8 จุด หลายจุดพบตั้งใบเสมาเป็น 3 ชั้น บ่งบอกถึงความเคารพนับถือ ที่ไม่ปรากฏพื้นที่อื่นมาก่อน (ที่อื่นมีเฉพาะใบเสมา) บางจุดมีรอยจำหลัก (แกะสลัก) และการขุดค้นครั้งล่าสุด พบกลุ่มใบเสมาในพื้นราบ ที่ยังคงสภาพไม่มีการเคลื่อนย้าย อยู่ระหว่างการขุดค้น หาคำอธิบาย ซึ่งมีแผนนำกลับมาตั้งขึ้น เหมือนเมื่อครั้งสร้างในอดีต
ทีมงานศึกษาจัดทำเอกสาร ได้กำหนดแนวเขตพื้นที่ “มรดกโลกภูพระบาท” เป็นพื้นที่ตามแนวหลักฐานโบราณคดี และพื้นที่แนวกันชน และยังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอุทยานประวัติศาสตร์ปัจุบัน 1,734 ไร่ และกลุ่มพระพุทธบาทบัวบาน 62 ไร่ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ โดยพื้นที่แหล่งโบราณคดี และพื้นที่แนวกันชน จะต้องทำความเข้าใจผู้อยู่ในพื้นที่ บางส่วนอยู่ในแผน “การปฏิรูปที่ดิน” บางส่วนมีวัด-วัดป่า-สำนักสงฆ์ ว่าผู้ที่มีกิจกรรมในพื้นที่ ยังคงสามารถดำเนินกิจกรรมได้ มีเพียงการจัดสร้างอาคาร หรือโครงสร้างอื่น ต้องพิจารณาตามกรอบ “มรดกโลก”
ขณะที่ สนง.พื้นที่อนุรักษ์ 10 และ สนง.ป่าไม้ 6 ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าสงวนฯ เกิดขึ้นในทุกพื้นที่รวมทั้ง “ภูพระบาท” การแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมาย มีการดำเนินการอยางต่อเนื่อง ด้วยการทำความเข้าใจ และทำการแก้ไขไปแล้วหลายพื้นที่ สำหรับในพื้นที่ “ภูพระบาท” ขอนัดพูดคุยรายละเอียดของ แนวเขตป่าสงวนฯ , แนวเขตอุทยานเตรียมการ , แนวเขตโบราณสถาน และแนวเขตใหม่ “มรดกโลก” เพื่อทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย ( อ.7 ก.ย.64 เวลา 10.00 น. สนง.พื้นที่อนุรักษ์ 10 อุดรธานี)
นายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า การเสนอให้ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” เป็นมรดกโลกมานานพอสมควร หากได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก อุดรธานีจะเป็นจังหวัดเดียว ของประเทศไทย ที่มีมรดกโลก 2 แห่ง ก็จะทำให้มีนักท่องเที่ยว เดินทางมาอุดรธานีมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญจะต้องทำความเข้าใจ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้เข้าใจ ซึ่งน่าจะมีรายละเอียดมากพอสมควร รวมทั้งข้อสอบถาม ………..