เวลา 15.00 น. วันที่ 3 กันยายน 2562 ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ หลังจากที่พายุ “โพดุล” สลายตัวไปแล้ว และพายุ “คาจิกิ” อ่อนกำลังลง โดยมีป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี นำหน่วยงานรับผิดชอบเข้าร่วมประชุมในห้อง และประชุมทางไกลกับทุกอำเภอ ให้รายงานความคืบหน้า ตอบข้อซักถาม และเสนอข้อมูลเพิ่มเติม
ที่ประชุมรายงานสถานการณ์ว่า อุดรธานีได้รับผลกระทบไม่รุนแรง โดยพายุโพดุลทำให้ฝนตกลงมา ส่งผลให้ลำน้ำ และลำน้ำสาขาของ ลำน้ำห้วยหลวง , ลำน้ำปาว และลำน้ำสงคราม มีระดับน้ำสูงขึ้นตามลำดับ บางพื้นที่เกิดสภาพน้ำล้นตลิ่ง เมื่อพายุโพดุลผ่านไประดับลดลง จนช่วงกลางคืนต่อเนื่องมาในวันที่ 2 กันยายน อิทธิพลของพายุคาจิกิ ทำให้ฝนตกลงมาอีกครั้ง ระดับในบางลำห้วยสูงขึ้นอีก ขณะที่ส่งผลดีในทุกอ่างฯ โดยเฉพาะอ่างฯห้วยหลวง มีปริมาณน้ำสะสม 53.96 ล้าน ลบท. หรือ 39.80 เปอร์เซ็นต์ พ้นวิกฤติขาดแคลนน้ำผลิตประปา ขณะบางอ่างฯต้องระบายน้ำออก
โดยลำน้ำห้วยหลวงและสาขา เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วม พื้นที่การเกษตร-ถนน-บ้านเรือน และน้ำจะลดลงเมื่อฝนหยุดตก ขณะลำห้วยหลักมีน้ำสะสมมาก ล้นตลิ่งท่วมพื้นที่เกษตร ถนน และบ้านเรือน ที่มีปัญหาท่วมอยู่นานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว คือ บ.หนองลีหู ต.สามพร้าว อ.เมือง ขณะที่กระแสน้ำทำให้กัดเซาะคันดิน , ถนน และคอสะพาน ในพื้นที่ ต.หมูม่น (สูงแคน-ทุ่งแร่-ดงเจริญ) 3 จุด , ต.นากว้าง 2 จุด , ต.กุดสระ 2 จุด , ทต.หนองสำโรง 2 จุด โดยทำการซ่อมแซมเพียงบางส่วน ด้วยการนำไม้มาสร้างคอก นำกระสอบทรายใส่ลงไป
ในส่วน อ.เพ็ญ พื้นที่มีฝนตกหนักมากที่สุดในเดือนสิงหาคม ทำให้ลำน้ำสาขา คือ ลำน้ำสวย-ลำน้ำเพ็ญ ที่เคยมีน้ำท่วมกระทบ 3 ตำบล ระดับน้ำลดได้ลงมาจนปกติแล้ว เหลือเพียงลำน้ำห้วยหลวง ที่ไหลผ่าน 4 ตำบล มีระดับน้ำสูงและล้นตลิ่ง ได้ทำการเฝ้าระวังที่ ต.เตาไห และ ต.สุมเส้า ทั้งนี้อุปสรรคในการไหลของลำน้ำ คือ ผักตบชวา และขยะต่างๆ มาติดอยู่ตามสะพานทุกแห่ง กีดขวางการระบายน้ำ ต้องเชิญชวนประชาชนจิตอาสา และเครื่องจักรมานำสิ่งกีดขวางออก
สำหรับลำน้ำปาวและสาขา มีน้ำจำนวนมากจากสำน้ำสาขา ไปลงไปที่หนองหานกุมภวาปี ที่มีความจุ 102 ล้าน ลบม. อยู่ในปริมาณเก็บกัก 89 ล้าน ลบม. โดยน้ำไหลผ่านประตูน้ำฝายกุมภวาปีวันละ 8-12 ล้าน ลบม. สภาพประตูน้ำมั่นคงแข็งแรง ขณะที่น้ำที่ระบายออกจากฝายกุมภวาปี ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร ต.ท่าลี่ อ.กุมภวาปี
และลำน้ำสงครามและสาขา ไม่รุนแรงเท่าอุทกภัยปี 60 โดยในปีนี้ส่งผลให้ “วังนาคินทร์ คำชะโนด” มีระดับน้ำสูงขึ้น จนท่วมขังบริเวณต้นมะเดื่อยักษ์ จึงปิดไม่ให้ประชาชนเข้าไปในส่วนนั้น แก้ไขปัญหาด้วยการปิดทางเข้าน้ำเข้าทั้งหมด ต่อมาต้องเปิดเข้าไป 1 ช่อง เพราะน้ำไหลไปท่วมหมู่บ้าน ขณะนี้ระดับน้ำลดลงเรื่อยๆ หากไม่มีฝนตกลงมาอีก คาดว่าจะเปิดพื้นที่ได้เร็วๆนี้
นายปราโมทย์ฯ รอง ผวจ.อุดรธานี มีคำสั่งแก้ไขการบุกรุกทางระบายน้ำ ให้ดำเนินการตามขั้นตอน แจ้งให้ผู้บุกรุกทำการรื้อถอน หากไม่ดำเนินการให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย และระหว่างกระบวนการยุติธรรม ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น จะต้องไม่ไปทำกิจกรรม สร้างปฏิสัมพันธ์ กับสถานที่ดังกล่าว และให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะมีระเบียบปฏิบัติไว้แล้ว อาทิ
การบุกรุกลำห้วยขุ่น ทต.บ้านจั่น อ.เมือง การสร้างโกดังขวางทางน้ำ เกิดขึ้นติดต่อกันมานาน ส่งผลให้น้ำจากลำห้วยขุ่น ไหลล้นท่วมถนนมิตรภาพ ก่อนเข้าเมืองอุดรธานี และชุมชนที่อยู่ใกล้ทางระบายน้ำ คณะกรรมการฯได้สั่งการให้ อัยการ จ.อุดรธานี ดำเนินการตามคำพิพากษา และขอ ทต.บ้านจั่น เริ่มดำเนินคดีกับพื้นที่การบุกรุกอื่น ไม่ต้องรอคำพิพากษา
การบุกรุกที่ดินของ สปก. เป็นชายตลิ่งลำน้ำห้วยหลวง เป็นร้านอาหารเชิงสะพานข้ามห้วยหลวง ตรงข้ามตลาดน้ำสินเจริญ อ.เพ็ญ เขตติดต่อ ต.หัวนาคำ อ.บ้านดุง ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ผู้ครอบครองมีความผิดไปแล้ว แต่ยังมีการประกอบธุรกิจ จัดกิจกรรม โดยมีหน่วยงานราชการไปร่วมกิจกรรมด้วย แม้ก่อนหน้านี้จังหวัดอุดรธานีทำบันทึกของให้ ดำเนินการตามขึ้นตอนของกฎหมายไปแล้ว
การบุกรุกทางระบายน้ำ “คำชะโนด”.ปัญหาน้ำท่วมขังใน “วังนาคินทร์คำชะโนด” ที่พบว่ามีปัญหาทางระบายน้ำ ถูกบุกรุกของกลุ่มคน เพื่อเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย ด้วยการแจ้งให้ผู้บุกรุกทำการรื้อถอน หากไม่ดำเนินการให้แจ้งซ้ำ เมื่อครบกำหนดให้ดำเนินคดี และเข้ารื้อถอนตามอำนาจหน้าที่ หากไม่ดำเนินการเข้มงวด จะเกิดปัญหาต่อเนื่อง…
นายปราโมทย์ฯ ยังสั่งการให้ทุกอำเภอ บันทึกข้อมูลพร้อมถ่ายภาพ ระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงไป และให้บันทึกภาพมุมสูงด้วย“โดรน” เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ ในการวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป….