ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ร่วมประชุมสรุปการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วม หรือพื้นที่ฯท่วมซ้ำซากในเขตเทศบาลนครอุดรธานี (ไข่แดง) และพื้นที่โดยรอบ(ไข่ขาว) เพื่อเตรียมรับมือกับปริมาณน้ำฝน ที่คาดว่าจะตกลงมามากหลังกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป โดยมีนายธนพล จันทรนิมิ รอง ผวจ.อุดรธานี นำหน่วยงานราชการ , องค์กรปกครองท้องถิ่น เข้าร่วมประชุม
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ฝนที่ตกลงมาจะมีน้ำท่วมขัง หรือรอระบานอยู่บนถนน ได้สร้างปัญหาความเดือดร้อนประชาชน และมีคำวิพากษ์วิจารณ์ตามมา แม้ผู้รับผิดชอบจะระบายน้ำออกได้ ยังต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ การระบายน้ำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ขอให้แต่ละหน่วยงานหาจุดเสี่ยง ในพื้นที่รับผิดชอบพร้อมแผนแก้ไข ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว เพื่อนำกลับมาประชุมสรุปแผนร่วมกัน
นายอภิชาต ชุมนุมมณี ผอ.ชลประทานอุดรธานี กล่าวว่า น่าเป็นห่วงลำห้วยหลวง “สะพานบ้านท่าตูม” ถนนมิตรภาพอุดรธานี-หนองคาย เพราะมีสภาพเป็นคอขวด หากมีปริมาณน้ำมากจะไหลผ่านไม่สะดวก แล้วจะสะสมสูงขึ้นไหลข้ามถนนมิตรภาพ จะต้องหาทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น และระยะยาว สำหรับแก้มลิง 2 แห่ง แห่งแรกอ่างบ้านจั่น ได้เร่งรัดให้ บน.23 อุดรธานี ซ่อมระบบส่งน้ำดิบ ไปผลิตน้ำประปาเสร็จก่อน 15 ก.ค.นี้ และอ่างฯหนองสำโรง อยู่ในช่วงการขุดลอก ไม่มีสภาพเป็นแก้มลิงได้
นายธีรภัทร ผิวสวัสดิ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า น้ำอาจจะท่วมข้ามถนนมิตรภาพ จากปัญหาการบุกรุกห้วยขุ่น ทต.บ้านจั่น ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ที่ล่าช้าไม่ทันการแก้ไข จนเกิดน้ำท่วมหมู่บ้านอัมรินทร์ตลอดฤดูฝน โดยในปีที่แล้วได้ระบายน้ำออก ผ่านที่ดินของเอกชน ปีนี้ไม่น่าจะระบายน้ำได้ ขณะการระบายน้ำขนานถนนมิตรภาพ ประสบปัญหาระดับ หากน้ำท่วมมากจำเป็นต้องขุดออก ทั้งนี้ระยะยาวกรมทางหลวงกำลังออกแบบ การขยายถนนเต็มขอบทาง โดยมีทางระบายน้ำรองรับปัญหาได้
“ บริเวณถนนหน้าร้านอาหารมัจฉา มีความพยายามแก้ไขแต่ยังไม่เสร็จ ปัญหาในปีนี้เกิดจากการก่อสร้างถนนของ อบจ.อุดรธานี ทำให้ท่อระบายน้ำลอดถนนอุดตัน ขอให้เร่งรัดเข้าไปแก้ไขปัญหา และปัญหาการระบายน้ำลงหนองแด มีอุปสรรคที่ฝายน้ำล้นท้ายหนองแด มีระดับสูงเพื่อเก็บน้ำไว้ผลิตประปา แต่ในฤดูฝนกลายเป็นการขวางทางน้ำ น่าจะมีการสร้างประตูควบคุมน้ำ เปิดออกในฤดูฝนและปิดไว้ในฤดูแล้ง รวมทั้งการพิจารณาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าปีนี้ ”
นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายก ทน.อุดรธานี กล่าวว่า จากน้ำท่วมใหญ่ปี 43-44 ทำให้มีแผนป้องกันน้ำท่วม ด้วยการป้องกันน้ำป่าเข้าเมือง และเร่งระบายน้ำออกจากเมือง ด้วยสถานีสูบน้ำ 13 แห่ง มีความสามารถรับน้ำฝนได้วันละ 150 มม. และที่ผ่านมาได้เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ แต่มีอุปสรรคสำคัญคือ กระแสไฟฟ้าขัดข้อง และมีปริมาณขยะมาก โดยยังมีพื้นที่เป็นจุดเสี่ยง ต้องใช้เวลาระบายน้ำหลายจุด จุดแรกแยกวัดโพธิสมภรณ์ มีแผนจะระบายน้ำฝนลงบ่อหน้าพิพิธภัณฑ์เมือง สูบต่อไปลงที่หนองประจักษ์ฯ โดยในปีนี้จะทำแบบชั่วคราว
จุดที่สองบริเวณซอยพรมประกาย ที่จะต้องสูบน้ำย้อนกลับไปลงห้วยหมากแข้ง แต่ปีนี้มีอุปสรรคสำคัญ คือการระบายน้ำออกจากสนามบิน ทำให้น้ำในห้วยสูงน้ำจากท่อสูบไหลลงไม่ได้ เสนอให้มีการบริหารจัดการน้ำร่วมกันของ ทน.อุดรธานี กับสนามบิน , จุดที่สามบริเวณหน้าสนามกีฬาเทศบาลนครอุดรธานี มีแผนจะระบายน้ำผ่านสนามกีฬา ลงไปยังคลองขี้ส่าด้านหลัง ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบปรับระดับท่อ และจุดที่สี่บริเวณซอยมิตรประชา การก่อสร้างทางต่างระดับ ได้มีการวางท่อระบายใหม่ ทน.อุดรธานี ได้ปรับแนวท่อในซอย น้ำสามารถระบายออกได้สะดวก เหลือเพียงท้ายซอยที่ต่ำมาก จะต้องยกถนนขึ้น