ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ร่วมประชุมกับอุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ตัวแทนของ สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , สนง.สาธารณสุข จ.อุดรธานี , สนง.เกษตรสหกรณ์ จ.อุดรธานี , ฝ่ายปกครอง , ผู้นำท้องที่ และตัวแทนชาวบ้านรับผลกระทบจากโรงงานยางแท่งของ บ.ศรีตรังแอโกร อินดัสทรี จก. , บ.วงษ์บัณฑิต จก. ถนนนิตโย ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ จังหวัดได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายชุด ประกอบด้วย คณะแก้ไขกระบวนการผลิตยาง , คณะแก้ไขการขนส่งผลผลิต , คณะแก้ไขกระบวนการผลิตของโรงงาน และคณะทำงานแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชน โดยที่ผ่านมามีความห่วงใยของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และข้อเสนอแนะมาตรการ หรือแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่เห็นว่าชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิชุมชน
“ ข้อเสนอแนะของกรรมการสิทธิฯ เป็นข้อเสนอไปยังหลายหน่วยงาน ซึ่งทุกหน่วยงานได้รับแจ้งไปแล้ว น่าจะต้องรับไปดำเนินการควบคู่ ไปกับความเห็นของคณะทำงาน เช่นในส่วนของ จ.อุดรธานี คณะกรรมการสิทธิฯเห็นว่าควรบูรณาการแก้ไขปัญหา และให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการดำเนินการ โดยให้ดำเนินการภายในเวลา 90 วัน หน่วยงานต่างๆได้ดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว และขอให้แต่ละหน่วยงานในกระทรวงเดียวกัน ร่วมหาแนวทางการทำงาน มารายงานในการประชุมอีกครั้ง ”
นางพาขวัญ กาจหาญ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี กล่าวว่า 1 ใน 2 โรงงาน ได้ขอทดสอบเดินเครื่องจักรผลิตอีก 1 โรง ซึ่งถือเป็นการเปิดโรงงานอีกโรง สนง.อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ยังไม่อนุญาตให้ทดลอง ตามข้อแนะนำกรรมการสิทธิฯ โดยให้ไปแก้ไขระบบโรงงานเดิมได้ก่อน , การตรวจพบคุณภาพน้ำที่บำบัดยังมีปัญหา จึงมีคำสั่งห้ามปล่อยน้ำออกนอกระบบ ส่วนระบบอากาศจะร่วมกับ มรภ.อุดรธานี และคนกลางตรวจวัดวันที่ 10 ก.ค.นี้ และเรื่องการกำหนดมาตรฐานยางดิบ และมาตรฐานโรงงานแปรรูปยางพารา ตามข้อเสนอกรรมการสิทธิฯ อยู่ระหว่างส่วนกลางดำเนินการ
นายสายัณต์ หมีแก้ว นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สนง.สิ่งแวดล้อมภาค 9 อุดรธานี กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามคำแนะนำกรรมการสิทธิฯต่อเนื่อง ในเรื่อง “กลิ่น” ยังมีปัญหาเรื่องมาตรฐานกลิ่นโรงงานยางไม่มี แม้กรมควบคุมมลพิษจะตรวจพบก๊าซ 8 ชนิด เมื่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาตรวจซ้ำ ก็ยังไม่มีรายงานผลมาเปิดเผย , เรื่องน้ำเสียมีการตรวจปีละ 3 ครั้ง ๆล่าสุด พบว่าน้ำเสียโรงงานออกมาปนเปื้อนภายนอก และแหล่งน้ำสาธารณะ อยู่ระหว่างรวบรวมรายงานหน่วยงานรับผิดชอบ
ตัวแทน สนง.สาธารณสุข จ.อุดรธานี สรุปว่า ได้ดำเนินการเรื่องสุขภาพทั้งเชิงรุกและรับ โดยการตรวจสุขภาพประชาชน พบว่าโรงงานมีผลกระทบกับสุขภาพ แม้ยังไม่รุนแรง แต่หากสะสมจะรุนแรงขึ้น สำหรับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตร ระบุว่า ปัญหาหารใช้กรดซัลฟิวริก ซึ่งเป็นกรดสังเคราะห์ ทำให้น้ำยางแข้งตัว ส่งผลกระทบต่อคุณภาพยางพารา และกระทบกับสิ่งแวดล้อม ยังไม่มีระเบียบหรือกฎหมายห้ามการใช้กรดนี้ มีเพียงการรณรงค์ให้ใช้กรดอินทรีย์ หรือกรดฟอร์มิค ถ้ายังไม่ห้ามนำเข้า หรือห้ามนำมาใช้กับยางพารา ก็จะต้องทำความเข้าใจชาวสวนยางเท่านั้น
นางกิตติชา ธานีเนียม หรือครูเตี้ย ตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อน กล่าวว่า โรงงานทั้ง 2 โรง ยังคงส่งกลิ่นเหม็นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังฝนตก แต่ สนง.อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี กลับรายงานไปสำนักนายกรัฐมนตรีว่า “ชาวบ้านรับกลิ่นได้แล้ว” ไม่เป็นความจริง จึงขอให้ สนง.อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ปฏิบัติตามกฎหมายกับโรงงานยางแท่งด้วย
ขณะที่ พ.ต.อ.สม วาโย ผกก.กลุ่มงานสอบสวน ภ.จว.อุดรธานี กล่าวว่า นอกจากมาประชุมในฐานะตัวแทนผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี ยังอยู่ในฐานะชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะมีบ้านพักอยู่ที่ บ.อีเลี่ยน ต.หนองขอนกว้าง อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นมานานหลายปี จนภรรยาไม่สามารถอาศัยอยู่บ้านได้ ต้องไปพักอาศัยอยู่ที่อื่นนานแล้ว อยากจะให้แก้ไขปัญหาโดยเร็วเช่นกัน