ประชุม คกก.โรคติดต่ออุดรธานี สธ.แจงแผนฉีดวัคซีนโควิด19 อุดรธานีเป็นระยะที่ 2 มิ.ย.-ธ.ค.64 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์-สาธารณสุข ทั้งรัฐเอกชน , ผู้มีโรคประจำตัวบางชนิด , ผู้สูงอายุ และ จนท.เกี่ยวข้องควบคุมโรค 307,051 คน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 มีนาคม 2564 ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.อุดรธานี ครั้งที่ 4 / 2564 มีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทน องค์กรภาคเอกชน เข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid-19 ภายในจังหวัดอุดรธานี
ผู้ว่าฯแจ้งในที่ประชุมว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อ มาจากการคัดกรองเชิงรุกในสถานประกอบการ โดยจังหวัดที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อมาก ที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สมุทรสาคร ปทุมธานี กรุงเทพฯ นครปฐม และชลบุรี แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแยกรายจังหวัด พบว่าบางจังหวัดมีจํานวนการพบผู้ติดเชื้อที่น้อยลง เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ และ กทม. และยังมีบางจังหวัดที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น ปทุมธานี นนทบุรี และตาก ซึ่งมีแนวโน้มของการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันเพิ่มขึ้น
ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชน ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค โดยเฉพาะการสวมใส่หน้ากาก อนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ลดการเดินทางที่ไม่จําเป็น หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงที่มีคนรวมกันอยู่อย่างแออัด สแกน ไทยชนะ หรือใช้หมอชนะ คอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน หลังไปตลาดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ และหากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือจมูกไม่รับกลิ่นลิ้นไม่รับรส ให้รีบพบแพทย์ และเปิดเผยประวัติการเดินทางให้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ เพื่อลดการแพร่กระจายโรคในชุมชน และป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลที่มีภาวะเสี่ยงเพื่อลดการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต
ในที่ประชุมได้มีการรายงานภาพรวม การเตรียมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งประเทศแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 เดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2564 จำนวน 2 ล้านโด๊ส ใน 18 จังหวัดเสี่ยง ระยะที่ 2 เดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2564 จำนวน 61 ล้านโด๊ส ทุกจังหวัด โดย จ. อุดรธานี อยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งมีแผนงานดังนี้ กลุ่มเป้าหมายแบ่งเป็น 4 กลุ่ม 1.บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน , บุคลาการทางการแพทย์และสาธารณสุข 12,341 ราย อสม./อสต. 28,130 ราย
2.บุคคลที่มีโรคประจำตัวอายุตั้งแต่ 18 – ต่ำกว่า 60 ปี แยกเป็น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง 4,250 ราย โรคหัวใจและหลอดเลือด 268 ราย โรคไตเรื้อรัง 132 ราย โรคหลอดเลือดสมอง 730 ราย โรคมะเร็งทุกชนิด 1,042 ราย โรคเบาหวาน 26,200 ราย 3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 232,426 ราย 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,532 ราย รวมทั้งสิ้น 307,051 ราย
สาธารณสุข จ.อุดรธานี ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการให้วัคซีนไว้ดังนี้ 1.สำรวจกลุ่มเป้าหมายและความต้องการวัคซีน 2.แต่งตั้งคณะทำงานและจัดทำแผนปฏิบัติการ 3.ชี้แจงและอบรมบุคลากร 4.สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนให้เข้าใจและมีความพร้อม 5.จัดระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควิดระบบ cold chain ระบบเฝ้าระวัง AEFI ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามแผนงาน และ 6.ซักซ้อมแผนและสอบถามความพร้อมก่อนให้บริการฉีดวัคซีนเข็มแรก
นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า ถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงนี้ แต่เราก็ต้องดำเนินการป้องกันโรค กันอย่างเข้มข้นเหมือนเดิม เนื่องจากประชาชนยังต้องเดินทางสัญจรไปมาระหว่างจังหวัด ตัวเลขการตรวจพบผู้ติดเชื้อที่น้อยลง ไม่ได้หมายความว่าเชื้อโรคจะลดลงแต่อย่างใด ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องดำเนินชีวิตกันต่อไป เราจะเริ่มคลายมาตรการเพื่อให้งานต่าง ๆดำเนินต่อไปได้ตามปกติให้มากที่สุด วันนี้มีการขออนุญาตจัดงาน วันอากงแซ ,งานบุญเดือนยี่ อ.หนองหาน ,งานวันมรดกโลกบ้านเชียง การแสดงดนตรีและงานอีเว้นท์ของเอกชน เซ็นทรัลพลาซา และยูดีทาวน์ งานสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมที่มีมาตรฐานตามที่คณะกรรมการกำหนด…..