เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ที่ห้องประชุมประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ดร.นิรุจน์ อุทธา หน.สนง.สภาเกษตรกร จ.อุดรธานี เป็นประธานการประชุมเวทีชี้แจง “แนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ จ.อุดรธานี ครั้งที่ 2/2562” โดยมี ภก.สุนทร พุทธศรีจารุ รก.ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของยาเสพติด สนง.คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อ.วิวัฒน์ ศรีวิชา ผอ.รพ.การแพทย์แผนไทยหลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ร่วมบรรยายและพูดคุยในเวทีฯ
ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยว อาทิเช่น ปปส.ภาค 4 ขอนแก่น , สนง.สาธารณสุขอุดรธานี , รพ.ศูนย์อุดรธานี , รพ.มะเร็งอุดรธานี , ม.ราชภัฏอุดรธานี , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และได้รับความสนใจจาก สมาชิกวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ประชาชนทั่วไป ผู้ป่วยมะเร็ง สนใจเข้าร่วมกว่า 150 คน โดยบริเวณหน้าห้องประชุม สนง.สาธารณสุข จ.อุดรธานี ได้ตั้งโต๊ะรับขึ้นทะเบียนเพื่อนิรโทษกรรมผู้ป่วยที่มีและใช้กัญชารักษาโรค และศูนย์ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ จ.อุดรธานี (สนง.สภาเกษตรกร จ.อุดรธานี) ได้ตั้งโต๊ะรับลงทะเบียน ผู้ป่วย 40 กลุ่มโรค และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ที่สมัครเข้าร่วมโครงการวิจัยฯ
ภก.สุนทร พุทธศรีจารุ รก.ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของยาเสพติด สนง.คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า เรื่องโอกาสของผู้ป่วยในการมีและใช้กัญชาในการรักษาโรคเพื่อการพึ่งตนเองของคนไทย ตอนนี้ยังตีความไม่ได้ กฎหมายยังไม่อนุญาต เลยไม่สามารถอธิบายได้ว่ากรอบมันแค่ไหน แต่กฎหมายในปัจจุบันนี้ตาม พรบ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 ก็เปิดแนวทางไว้ในการรักษาโรคและการวิจัยอยู่แล้ว ยอมรับว่าเราเจอทางตันซึ่งในกรอบมันไปได้แค่นั้น ณ ขณะนี้เราได้เร่งพัฒนาให้ความรู้ อบรม แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์ไทยประยุกต์ เพื่อมารองรับการสั่งจ่ายยาที่เป็นสารสกัดจากกัญชาในอนาคต ตอนนี้เราเตรียมพร้อม และทำได้ตามกรอบของกฎหมายเท่านี้
“ ตอนนี้มีผู้มาแจ้งครอบครองกัญชาทั้งเพื่อการรักษาและวิจัยกับทาง อย. มีประมาณหมื่นกว่ารายทั่วประเทศ ตามช่องทางที่กฎหมายเปิดไว้ในการนิรโทษกรรม มีกลุ่มของแพทย์แจ้งครอบครองไว้ประมาณ 30 ราย แต่ไม่สามารถใช้ในการรักษาได้ในปัจจุบัน และกลุ่มผู้ป่วยถือเป็นสัดส่วนที่เยอะที่สุดในการแจ้ง ซึ่งต้องมีใบรับรองแพทย์มาด้วย ตรงนี้คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นยังมีความสับสน เนื่องจากหมอบางส่วนยังไม่เข้าใจกลัวว่าจะผิดกับหลักกฎหมาย และไม่ออกใบรับรองแพทย์ให้ ตรงนี้ก็ได้ประชุมทำความเข้าใจกับทาง สสจ. ทั่วประเทศไปแล้ว แพทย์จะไม่มีความผิดในส่วนนี้ ระบุว่าป่วยแต่ไม่ได้ระบุว่าต้องใช้กัญชา การใช้อยู่ที่ความสมัครใจของผู้ป่วย ”
ภก.สุนทรฯ เปิดเผยอีกว่า ส่วนตัวผลิตภัณฑ์ที่นำมาแจ้งนิรโทษกรรม มีหลากหลายมากมีทั้งพืชแห้ง พืชสด สารสกัด หรือแม้แต่แบบมวนบุหรี่พันลำ ตรงนี้ อย. ไม่สบายใจลำบากใจมาก เพราะนโยบายเราจะไม่แจ้งข้อมูลตรงนี้ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะเป็นช่องว่างได้ ซึ่งจะมีกลุ่มผู้ใช้กัญชากลุ่มที่สามคือกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายในการครอบครองใดใด มีไว้เพื่อเสพนันทนาการตรงนี้ยังมีความผิดอยู่ แต่หากในช่วงนิรโทษกรรมนี้ให้รีบนำมาแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่จะไม่มีความผิด ของกลางที่ยึดไว้หากมีคุณภาพก็จะเก็บไว้ใช้ทางการแพทย์ต่อไปอันไหนไม่ดีก็ทำลายทิ้งตามขั้นตอน
“ เรื่องโอกาสที่กัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจ ส่วนตัวมองว่าตอนนี้ประเทศไทยเดินหน้าไปมากที่สุดในเอเชีย ถ้าเราเดินตามกรอบของกฎหมายอย่างมั่นคงมันจะไปได้ ถ้าเป็นเรื่องของคุณภาพและการรักษาเราเป็นอันดับหนึ่ง แต่หากจะมองถึงเรื่องการส่งออกตรงนี้ก็มีกฎหมายสากลรองรับ มีหน่วยงานระหว่างประเทศดูแลอยู่ มันต้องอยู่ในการควบคุมมองว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ ซึ่งสามารถกำกับและตัดสิทธิ์ในการใช้ทางแพทย์ได้เลย หากมีข้อผิดพลาดไปในทางที่ไม่ดี ตอนนี้การพัฒนาเรื่องกัญชาของไทยไม่ช้าเดินหน้าไปแบบก้าวกระโดด อยู่ที่ข้อกฎหมายในอนาคตว่าจะเป็นเช่นไร ”
ดร.นิรุจน์ อุทธา หน.สนง.สภาเกษตรกร จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า วันนี้เป็นภาพที่ดีของ จ.อุดรธานี ที่จะเป็นจังหวัดต้นแบบในการพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์ หลายหน่วยงานให้ความสนใจเข้ามาร่วมการพูดคุย โดยเฉพาะ อย. และ ปปส. เรื่องของกฎหมายเรายังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่เรามองเห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพราะวันนี้มีหลายภาคส่วน ประชาชนที่สนใจเดินทางมากจากหลายจังหวัดของภาคอีสาน การพูดคุยการเสวนาของทางศูนย์ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ จ.อุดรธานี ในครั้งที่สามเรายังไม่กำหนด จะขอเข้าไปร่วมในเวทีของ สสจ.อุดรธานี ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ก่อน วันนั้นน่าจะมีความคืบหน้าและมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น