สหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 อีสานตอนบน ยื่นหนังสือคัดค้านการแปรรูปองค์กรเป็นบริษัทในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แนะให้ศึกษารอบด้านหวั่นกระทบประชาชนค่าไฟฟ้าสูง และอนาคตของพนักงานไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร จะถูกโอนจากรัฐวิสาหกิจเป็นพนักงานบริษัทหรือไม่
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 16 กรกฎาคม ที่โถงชั้น 1 อาคาร 1 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นางสายใจ ล่ามสมบัติ ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จ.อุดรธานี และคณะเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ 20 คน เข้ายื่นหนังสือขอคัดค้านแนวทางการบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายเจษฎา ปานะถึก ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.อุดรธานี โดยมีการพูดคุยและทำความเข้าใจในจุดประสงค์ของการยื่นหนังสือ ไม่มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายใดใด
นางสายใจ ล่ามสมบัติ ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า วันนี้เราเป็นตัวแทนพี่น้องชาวการไฟฟ้าฯ อีสานตอนบน เพื่อคัดค้านนโยบายการแปรรูป การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กรณีจะโอนย้ายผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 500,000 กว่าราย จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไปอยู่กับบริษัท RPS (Regional Power System Company) โดยอ้างความต้องการพลังงานไฟฟ้า และความมั่นคงต่อระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้า
“ สำหรับ RPS นั้น เป็นบริษัทที่จะตั้งขึ้นโดย กองทุนฯกระทรวงพลังงาน ถือหุ้น ร้อยละ 51,การไฟฟ้าภูมิภาค ถือหุ้น ร้อยละ 24.5 ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถือหุ้น ร้อยละ 24.5 โดยจะนำ กฟภ. ในพื้นที่ 3 จังหวัด ไปรวมกับ กฟผ. และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าและขายให้ผู้ใช้ไฟโดยตรง โดยหุ้นในส่วนของกองทุนฯ กระทรวงพลังงาน ร้อยละ 51 จะโอนให้เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน คือ วิสาหกิจชุมชนยะลา,ปัตตานีและนราธิวาส โดยมีโรงไฟฟ้าชีวมวลชีวภาพเดิม ประมาณ 112.5 เมกกะวัตต์ อยู่ในความดูแล หรือต่อไปอาจก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นของวิสาหกิจชุมชนเอง ”
นางสายใจฯ เปิดเผยอีกว่า เราทราบข่าวมาว่านโยบายดังกล่าวดำเนินการมามากพอสมควรแล้ว แต่เรามองเห็นว่ามันไม่ชัดเจน ยังไม่มีการศึกษาข้อมูลที่ถ่องแท้ เราจึงอยากให้ทางรัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้ ดูรายละเอียด ดูเรื่องผลกระทบในทุกส่วน อีกมุมหนึ่งเราห่วงองค์กร ห่วงพนักงาน ซึ่งพนักงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังระส่ำระสาย เกรงว่าถ้ารัฐบาลตั้ง บ.RPS โดยกระทรวงพลังงานขึ้นมาแล้วพวกเขาจะอยู่ยังไง พวกเขาจะตกไปเป็นพนักงานบริษัทหรือไม่ และห่วงที่สุดคือสมบัติของการไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่ เช่น สายส่ง เสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ระบบจำหน่าย สถานีไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งจะตกไปเป็นของบริษัทหรือไม่
“ทราบดีว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีการบริหารงานที่ขาดทุนอยู่แล้ว หากเป็นในรูปแบบบริษัทอาจจะต้องมีการเพิ่มค่าไฟฟ้าในอนาคต ปัจจุบันเราบริหารโดยการเอากำไรจากเขตอื่นไปช่วยเหลือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเป็นรูปแบบบริษัทแล้วทางรัฐบาลต้องทำให้พวกเรามั่นใจว่าประชาชนอยู่ได้ พนักงานอย่างเราก็จะอยู่ได้เหมือนกัน เราจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะคัดค้านนโยบายนี้ ซึ่งเป็นการยื่นหนังสือลงรายชื่อผู้บริหาร พนักงาน พร้อมกันทั้ง 12 เขต ทั่วประเทศ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ แสดงพลังร่วมกัน”