ชาวไร่อ้อยอุดรธานีร่วมแสดงพลัง จับมือชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ หนุน พรบ.อ้อยฉบับชาวไร่ วอนรัฐบาลแก้ไขนโยบายผิดพลาด คุมเข้มน้ำหนักเกินเหตุ ยืนหนังสือผ่านผู้ว่าฯ
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 31 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ และตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือขอเสนอแนวทางแก้ไข ความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย และขอให้สนับสนุนร่างแก้ไข พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับชาวไร่อ้อย โดยมีนายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นตัวแทนผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี รับหนังสือจากทั้ง 2 สมาคมฯ ซึ่งชาวไร่อ้อยได้ยื่นพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลให้รับทราบและหาทางช่วยเหลือ
โดยทั้ง 2 สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยใน จ.อุดรธานี ได้เสนอปัญหา 3 ข้อหลัก คือ 1.ผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล , ส่งเสริมให้ชาวนาหันมาปลูกอ้อย ทำให้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 92.95 ล้านตัน ปีนี้ 134.77 ล้านตัน แต่ระยะเวลาหีบของโรงงานมีเวลาจำกัด ทำให้มีอ้อยตกค้างส่งเข้าโรงงานไม่ทันจำนวนมาก และจะส่งผลกระทบในปีต่อไป , การควบคุมน้ำหนักการบรรทุกอ้อยส่งโรงงาน ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว และรถอ้อยไม่น่าจะเป็นสาเหตุถนนพัง ตัวอย่างถนน อ.กุมภวาปี โรงงานตั้งมากว่า 40 ปี ถนนสายหลักไม่เคยพังเสียหาย , การห้ามขนส่งอ้อยช่วงเทศกาล ทำให้ตัดอ้อยส่งล่าช้า สามารถอนุญาตให้วิ่งบางเวลาได้ และการใช้แรงงานต่างด้าวที่เข้มงวด น่าจะออกระเบียบเป็นกรณีพิเศษ แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมอ้อย ซึ่งมีระยะเพียง 4-5 เดือนเท่านั้น
2.ราคาอ้อยที่ตกต่ำ ฤดูกาลปี 2560/61 และปี 2561/62 ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก และ 3.ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายฉบับชาวไร่อ้อยให้พิจารณา ซึ่งที่ผ่านมา พรบ.อ้อยฯ ฉบับเดิมรัฐบาลมีการแก้ไขไปในบางมาตรา ซึ่งก็ยังไม่ครอบคลุมตามที่ชาวไร่อ้อยต้องการ และขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ อยู่ระหว่างการยกร่าง โดยก่อนหน้านี้ก็มารับฟังความเห็นชาวไร่อ้อย แต่เมื่อกลับไปไม่ได้บรรจุลงไปในร่างฯ จึงเสนอเพิ่มเติมของส่วนคือการเพิ่มรายได้ให้ชาวไร่อ้อย จากผลพลอยได้จากอ้อย ที่ผ่านมาเป็นรายได้จากน้ำตาลโดยตรง และยืนยันความเป็นสถาบันไร่อ้อย ที่มีการกำหนดคุณสมบัติไว้แล้ว เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรชาวไร่อ้อย
นายสิธิชัย จินดาหลวง รอง ผวจ.อุดรธานี ได้สอบถามข้อมูลจากสมาคมฯทั้ง 2 แห่ง เรื่องพันธะสัญญากับโรงงานน้ำตาล 4 โรง มีกำลังผลิตรวม 7 แสนตัน(น้ำตาล)ต่อปี โดยมีโรงงานน้ำตาล 2 โรงกำลังขายกำลังผลิตอีก มีสมาชิก 6,700 ราย พื้นที่ปลูก 8 แสนไร่ เฉพาะที่เป็นสมาชิกและขึ้นทะเบียนกับโรงงาน ยังมีเกษตรกรและพื้นที่ปลูกอ้อย “ปลูกลอย” ขายต่อให้เจ้าของโควตา จึงไม่รู้จำนวนพื้นที่ปลูกจริง ซึ่งเป็นปัญหามากในช่วงอ้อยล้นตลาด
นายสิธิชัย จินดาหลวง รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า ทางจังหวัดจะรับหนังสือไว้เบื้องต้น เพื่อรายงานผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี และส่งต่อไปยังรัฐบาลตามที่ต้องการ ขณะเดียวกันจังหวัดจะไปดูแต่ละประเด็น ลงไปดูในรายละเอียด ว่าในระดับจังหวัด ที่มีอนุกรรมการระดับจังหวัดอยู่ จะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง จะเสนออะไรขึ้นไปได้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมาอนุกรรมการอ้อยฯระดับจังหวัด อาทิ เรื่องเวลาการเปิดหีบอ้อยไม่น่าจะพร้อมกันทั่วประเทศ โดยของให้สมาคมทั้ง 2 แห่ง จัดส่งรายชื่อสมาชิกมาให้ทางราชการ เป็นข้อมูลพื้นฐานลงไปสำรวจเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ปัญหาอ้อยขาด อ้อยเหลือจะได้เบาบางลง