ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 บริเวณตลาดเกษตรกร จ.อุดรธานี หรือ “ตลาดร่มเขียว” หน้า สน.เกษตร จ.อุดรธานี ริมหนองประจักษ์ศิลปาคม ทน.อุดรธานี คณะกรรมการเขตสุขภาพที่ 8 อุดรธานี จัดให้มีเวลาเสวนา “เกษตรปลอดภัยสู่เกษตรอัจฉริยะยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารแอ่งสกลนคร” โดยมีนายปราโมทย์ ธัญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธาน และร่วมเวทีเสวนา มีนายณรงค์ พลละเอียด อดีต ผวจ.ชุมพร อดีต รอง ผวจ.อุดรธานี ประธานคณะกรรมการฯ นำคณะฯ และผู้สนใจร่วมกิจกรรม
“ตลาดร่มเขียว” มีชื่อจริงว่าตลาดเกษตรกร จ.อุดรธานี แต่ถูกเรียกเพราะใช้ร่มสีเขียว เกิดขึ้นในช่วงที่นายเสนีย์ จิตตเกษม เป็นผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี หรือเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา บริเวณริมทางเท้าหน้า สนง.เกษตร จ.อุดรธานี ตรงข้ามกับสวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม สำหรับกลุ่มเกษตรกร เกษตรกร นำผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์ และเกษตรปลอดภัย หรือสินค้าเกษตรแปรรูป มาจำหน่ายเท่านั้น เฉพาะในวันศุกร์-เสาร์ โดยมีกฎกติกากำกับดูแล และปัจจุบันมาผู้ค้าอยู่ 44 ราย
นายปราโมทย์ ธัญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของอุดรธานี ให้ความสำคัญของเกษตรปลอดภัย ก็คือเกษตรที่ปลอดสารเคมี เกษตรปลอดยาฆ่าแมลง ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทำให้การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกร ได้จัดสรรงบประมาณตามแผน ผ่านเครือข่ายภาครัฐ และการมีส่วนร่วม เพื่อผลิตอาหารสุขภาพสู่ทุกคน วันนี้ตลาดร่มเขียว กำลังจะทำให้เกิดความร่มเย็นและรื่นรมย์ ขณะเรื่องของสมุนไพรกัญชา-กันชง-กระท่อม ก็ต้องนำมาใช้ไม่เกินความเหมาะสม
นายธนดร พุทธรักษ์ นายก ทน.อุดรธานี กล่าวว่า นครอุดรฯปักหมุดที่ “เมืองสีเขียว” ที่หมายถึงหลายส่วน รวมทั้งเรื่องอาหารปลอดภัย ยินดีกับเครือข่ายอาหารปลอดภัย ขณะที่ ทน.อุดรธานี มีสนามบินช่วยล็อคพื้นที่ เหลือเป็นพื้นที่สีเขียว ทำเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยได้ ทน.อุดรธานี จะสนับสนุนใช้พื้นที่เพื่อผลิตอาหารป้อนเมือง รวมไปถึงตลาดในพื้นที่ ทน.อุดรธานี ทั้งของ อปท.และเอกชน มีนโยบายเป็นตลาดอาหารปลอดภัย
นายเอนก รัตน์รองใต้ เกษตร จ.อุดรธานี กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรปลอดภัยประสบความสำเร็จ ปัญหาคือค่านิยมผู้บริโภค ที่ในอดีตยังไม่เข้าใจ แม้มาวันนี้จะเข้าใจมากขึ้น แต่ที่ “ตลาดร่มเขียว” ที่สั่งต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี เกษตรกรมาขายผลผลิตเอง จะต้องผ่านการตรวจแปลง ของเกษตรอำเภอว่า ปลอดภัยจริงหรือไม่ ก่อนมาผ่านการพิจารณาระดับจังหวัด เมื่อมาขายแล้วเกณฑ์ไม่ผ่านต้องให้ออก ก่อนหน้านี้เรากำลังจะฉลอง “สิบปีตลาดร่มเขียว” มียอดขายรวม 100 ล้านบาท ก็ต้องมาพบกับโควิด-19 หยุดไป 2 สัปดาห์
นางอรทัย หมื่นศรี “สวนหมื่นศรี” ต.ตาลเลียน องกุดจับ กล่าวว่า เคยทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน เมือ่เกษียณอายุมาทำการเกษตร เริ่มจากเกษตรเคมีทั่วไป โดยเฉพาะการลงทุนปลูกองุ่น ซึ่งใช้สารเคมีมาก ส่งผลกระทบกับสุขภาพสามี และขาดทุนไปมากกว่า 1 ล้านบาท ตอนนี้ไม่กินองุ่นแล้ว จึงหันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยตามฤดูกาล แก้วมังกร , มะลอกอ , พุทรา , กล้วย และอื่น ๆ ประสงความสำเร็จที่สุดคือแก้วมังกร
นายบุญเกิด อุบลพันธุ์ เกษตรกรต้นแบบ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ต.ทับกุง อ.หนองแสง กล่าวว่า ทำการเกษตรปลอดภัย ผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการ ที่เกิดจากการเรียนรู้ มีรายได้มาทุกวัน จุดเด่นที่ผลิตขายคือ “ดอกดาหลา” ขายทั้งดอกและต้นพันธุ์ ตลาดร่มเขียวคือตลาดเกษตรกร จะเดินทางนำผลผลิตมาขายตั้งแต่เช้ามืด มาถึงก่อนเกษตรกรคนอื่นทุกครั้ง ที่นี่เหมือนครอบครัว เราเหมือนเครือญาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปหาสู่กันตลอดเวลา
นางสุภาพร เชื้อโชติ “เชื้อโชติ เนเซอร์รี่” กล่าวว่า เป็นผู้บริโภคอาหารปลอดภัยอยู่แล้ว และยังชวนคนอื่นมาบริโภคด้วย ดีใจมากที่มีตลาดร่มเขียว เป็นลูกค้าที่นี่มาตั้งแต่เปิด จนสนิทสนมกับเกษตรกร เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดี ๆมากมาย โดยเฉพาะการพัฒนาผลผลิต วิธีขายมือใหม่มาเป็นมืออาชีพ บางคนเป็นผู้สูงอายุไม่เคยออกากบ้าน มาช่วยภรรยาขายของ จากที่ไม่คล่องตัว ตอนนี้สุขภาพดีผิดหูผิดตา มีหลายจังหวัดมาดูงานที่นี่ อยากจะเอาไปทำในจังหวัดตนเอง แต่หลายคนเขายอมรับว่าทำไม่ได้ …